“โควิด-19″ ทำให้สถานการณ์การ “หลุดนอกระบบ” การศึกษามีแนวโน้มวิกฤติขึ้น เด็กนักเรียนกว่า 43,000 คนได้หลุดออกจากระบบการศึกษา และหากประมาณการจากข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ จะมีเด็กๆ ถึง 1.9 ล้านคนที่กำลังเผชิญความเสี่ยงเดียวกัน ทั้งที่เด็กไทยมีศักยภาพสูง
“ดร.ไกรยส ภัทราวาท” รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในงาน แถลงข่าวเปิดตัว ‘โครงการ TCP ปลุกความรู้สู่โอกาส’ผ่านระบบ Zoom ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ครัวเรือน ความยากจนของเด็กถดถอยลง จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของเด็กกว่าล้านคนทั้งประเทศ ถึงสถานการณ์ครัวเรือน พบว่าตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนลดลงจาก 1,159 บาท เหลือ 1,077 บาทในภาคเรียนที่ 1/2563
การว่างงาน ของคนในครอบครัว มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาชิกครอบครัวต้องย้ายกลับภูมิลำเนา สาเหตุนี้ทำให้เห็นว่า จำนวนเด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นปีละกว่าแสนคน และแตะ 1.3 ล้านคนในเทอมที่ 1/2564
เด็ก 4.3 หมื่นคน ยังไม่กลับเข้า “ระบบการศึกษา”
ทั้งนี้ ภาพรวมเด็ก 9 ล้านคน ในช่วงชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีเด็กกลุ่มเสี่ยงกว่า 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นเด็กยากจน และยากจนพิเศษ ที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มีการสำรวจช่วงรอยต่อระหว่างปีการศึกษา 2563 ก่อนการระบาดของเดลต้า และปี 2564 หลังการระบาดของเดลต้า มีนักเรียนในสังกัด สพฐ. อปท. และ ตชด. มากกว่า 43,000 คนยังไม่กลับเข้าระบบการศึกษา
ปัจจุบันมีพันธมิตรเริ่มต้นใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการดูแลพัฒนาศักยภาพครู ‘โรงเรียนปล่อยแสง’ ที่ร่วมมือกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ โครงการ ‘ทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง’ ที่ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สนับสนุนการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ผ่านการมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนช่วงชั้นรอยต่อเพื่อไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP ผนึกกำลังกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เร่งให้ความช่วยเหลือดูแลสุขภาพและการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านโครงการกลไกอาสาสมัคร
- สานฝันการศึกษา
สำหรับ โครงการ “ทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับกลุ่มธุรกิจ TCP จะช่วยสร้างหลักประกันทางการศึกษาเพื่อไม่ให้มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไทยเพิ่มขึ้น พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ กลับมามีความฝันในชีวิตอีกครั้ง
ซึ่งจะมอบทุนตลอดหนึ่งปีการศึกษา ให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงประกาศนียบัตรวิชาชีพปี 1 จำนวน 400 คน ในกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดยโครงการฯ ยังมีการใช้ฐานข้อมูลเพื่อระบุเด็กกลุ่มเสี่ยง และมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่แรกเริ่ม
- โรงเรียนปล่อยแสง พัฒนาครู
“รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี” คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการโรงเรียนปล่อยแสง มุ่งเน้นการทำงานกับครู เพราะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนและจะส่งผลต่อผู้เรียนอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมกำลังคน รวมถึงการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนภายใต้แนวคิดการศึกษาฐานสมรรถนะ
“ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน สอดคล้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชุมชนและสังคม โดยจะเริ่มจาก 12 โรงเรียนนำร่อง ซึ่งครูที่ผ่านกระบวนการนี้จะสามารถสร้างสรรค์การเรียนรู้แบบใหม่ และจะช่วยวางรากฐานของการศึกษาที่มีความหมายและมีความสุขต่อไป”
ขอบคุณข้อมูล https://www.bangkokbiznews.com/