วัสดุที่นิยมนำมาใช้สำหรับเป็นฉนวนกันเสียง
หลายท่านคงเคยสงสัยว่าฉนวนกันเสียงที่นำมาใช้งาน ทั้งสำหรับดูดซับเสียง และลดเสียงดัง ไม่ว่าจะที่บ้าน โรงงาน หรืออาคารสาธารณะนั้น ทำมาจากวัสดุอะไรบ้าง แต่ละประเภทมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร ทางนิวเทค อินซูเลชั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านฉนวนกันเสียงรายหนึ่งของเมืองไทย ยินดีแนะนำวัสดุยอดนิยมที่ไม่ใช่วัสดุกันเสียงแบบสั่งทำพิเศษ สำหรับทำงานฉนวนกันเสียงในบ้านเราให้ทราบกัน ดังนี้
1. ฉนวนใยแก้วความหนาแน่นต่ำ (Glass Wool)
ฉนวนกันเสียงประเภทนี้พบเห็นได้ทั่วไป ตามร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและห้างร้านที่จำหน่ายเกี่ยวกับฉนวนกันเสียง ผลิตจากใยแก้วเส้นสั้นขึ้นรูปด้วย binder ที่ทำให้ฉนวนมีความหนาและรูปร่างตามที่ผู้ผลิตต้องการ ที่พบเห็นส่วนใหญ่จะมีความหนาแน่นขั้นต่ำที่ 24 kg/m3 และไม่เกิน 48 kg/m3 (สำหรับสเป็คพิเศษหรือสั่งผลิต เริ่มตั้งแต่ 60 kg/m3 ไปจนถึง 96 kg/m3 )ฉนวนกันเสียงแบบนี้มีข้อดีคือราคาไม่แพง ไม่ติดไฟ หาซื้อได้ง่าย มีค่า NRC และ STC เพียงพอกับการแก้ปัญหาเสียงดังรำคาญแบบไม่รุนแรง เช่น เสียงดังจากบ้านที่มีผนังติดกัน หรือ ผนังกันเสียงสำหรับบางพื้นที่ที่เปิดโล่งในโรงงาน
2. ฉนวนใยแก้วความหนาแน่นสูง (Needle Mat)
ในเมืองไทยฉนวนใยแก้วความหนาแน่นสูง ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและนิยมใช้กันมากนัก เนื่องจากยังเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศเหมือนกับฉนวนใยแก้วความหนาแน่นต่ำ สำหรับงาน แก้ปัญหาเสียงดังในโรงงาน หรือสถานที่ที่มีเสียงดังรำคาญอยู่ในขั้นรุนแรง ฉนวนกันเสียงประเภทนี้จะได้รับความนิยมเป็นลำดับต้นๆ ในการใช้แก้ปัญหาเสียงดังที่เกิดขึ้น ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นเฉพาะตัว เช่น ความหนาแน่นเริ่มต้นที่ 160 kg/m3 ไปจนถึง 220 kg/m3 ทำให้มีค่า NRC และ STC สูง การไม่มี binder เป็นส่วนผสม ทำให้มีค่าการยุบตัวน้อยมากหรือแทบไม่มีเลยเมื่อใช้ไปนานๆ รวมถึงการที่มีเส้นใยโตกว่า 6 ไมครอน ทำให้ฉนวนประเภทนี้ไม่เป็นอันตรายต่อระบบหายใจของผู้ใช้งาน ที่สำคัญไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ ทนอุณหภูมิได้สูงมาก (600-1200 C ) และมีฝุ่นน้อยมากเมื่อต้องทำงานกับฉนวนกันเสียงแบบนี้
3. ฉนวนใยหิน (Rock Wool)
เราจะพบว่ามีการนำฉนวนใยหินมาทำงานในลักษณะฉนวนกันเสียง สำหรับงานบางประเภทหรือบางพื้นที่ เช่น ห้องเครื่องยนต์เรือขนส่งสินค้า ผนังตู้คอนเทนเนอร์ที่วางเครื่องยนต์ก๊าซธรรมชาติ กล่องครอบลดเสียงสำหรับมอเตอร์หรือปั๊ม เป็นต้น เพราะฉนวนใยหินนอกจากจะนิยมใช้งานด้านฉนวนกันความร้อนสำหรับท่อและผนังเตาต่างๆแล้ว ยังนำมาใช้งานกันเสียงแบบชั่วคราวหรืองานที่งบประมาณด้านการแก้ปัญหาเสียงมีน้อยก็ได้ เพราะหาซื้อได้ทั่วไป ราคาไม่สูงมากนัก มีให้เลือกทั้งแบบแผ่น และแบบม้วน
4. ฉนวนยางสังเคราะห์
ฉนวนกันเสียงอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือฉนวนกันเสียงที่ผลิตจากยางสังเคราะห์หรือวัสดุจำพวก thermoplastic อย่างเช่น Polyethylene foam, polyurethane sheet, EPDM or close cell rubber sheet เป็นต้น ฉนวนกันเสียงเหล่านี้ มีข้อดีคือไร้ฝุ่น กันน้ำและไม่เป็นเชื้อรา มีค่า STC และ NRC ให้เลือกในระดับราคาที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับเสียงดังที่ต้องการลดและงบประมาณของผู้ใช้งาน มีให้เลือกทั้งแบบแผ่นและแบบม้วน บางยี่ห้อสามารถสั่งผลิตให้มีสีตามที่เจ้าของงานต้องการได้นอกจากสีหลักคือสีดำ
5. แผ่นซับเสียง จากขี้เลื่อยหรือวัสดุสังเคราะห์
วัสดุที่นิยมนำมาใช้กรุผิวหน้าเพื่อ ป้องกันเสียงก้องเสียงสะท้อน อีกประเภทหนึ่ง คือ แผ่นซับเสียงที่ผลิตจากเศษขี้เลื่อยผสมกับวัสดุสังเคราะห์ประเภทยางผสมกับพวก thermosetting เช่น epoxy หรือ polyester มีข้อดีคือมีสีสันให้เลือกหลากหลายเพื่อให้เข้ากับผนังอาคารหรือฝ้าเพดาน ข้อด้อยคือหาซื้อได้ยาก และบางสีต้องสั่งผลิตพิเศษ (มีปริมาณขั้นต่ำในการสั่งผลิต) ฉนวนกันเสียงแบบนี้ส่วนใหญ่จะใช้กับห้องประชุม หรือโรงแรมที่ต้องการความสวยงามหรูหรา พร้อมอรรถประโยชน์อื่นเช่น ป้องกันเสียงสะท้อน และผิวที่เรียบรื่น ง่ายต่อการทำความสะอาด
ขอบคุณข้อมูล https://www.newtechinsulation.com