การออกแบบและเทคโนโลยี
กระบวนการเทคโนโลยี
กระบวนการเทคโนโลยี เป็นขั้นตอนการแก้ปัญหาหรือสนองความหรือสนองความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน และเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเพื่อให้ได้สิ่งของเครื่องใช้หรือวิธีการที่สามารถแก้ปัญหาและสนองความต้องการนั้น
ขั้นตอนของกระบวนการเทคโนโลยี
ขั้นตอนของกระบวนการเทคโนโลยีประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้
1.การกำหนดปัญหาหรือความต้องการ เป็นขั้นตอนการระบุและกำหนดขอบเขตของปัญหาหรือความต้องการ เพื่อให้มองเห็นเป้าหมายในการทำงาน
2.การรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนการรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือ หรือวิธีการที่จะใช้ในการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการให้ได้มากที่สุดจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น ถ่ายเอกสารจากหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ สำรวจตัวอย่างในท้องตลาด สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้อื่น ระดมสมองกับเพื่อนในกลุ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดมาใช้แก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ
3.การเลือกวิธีการ เป็นขั้นตอนการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการที่ดีที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
4.การออกแบบและปฏิบัติการ เป็นขั้นตอนการถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการที่เลือกไว้ออกมาเป็นภาพร่าง3มิติ หรือภาพฉาย เพื่อนำไปสู่การสร้างต้นแบบของสิ่งของเครื่องใช้ หรือถ่ายทอดความคิดของวิธีการเป็นแบบจำลองความคิดและการรายงานผลเพื่อนำเสนอวิธีการ รวมถึงการลงมือแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
5.การทดสอบ เป็นขั้นตอนการทดลองใช้ผลงานหรือวิธีการที่ได้จากการลงมือแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการว่าใช้งานได้หรือไม่ มีข้อบกพร่องอย่างไร
6.การปรับปรุงแก้ไข เป็นขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไขผลงานหรือวิธีการแก้ปัญหาหรอสนองความต้องการที่ใช้ไม่ได้หรือบกพร่อง หากไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ต้องกลับไปขั้นตอนการเลือกวิธีการใหม่อีกครั้ง
7.การประเมินผล เป็นขั้นตอนการพิจารณาผลงานหรือวิธีการที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วว่าสามารถบรรลุเป้าหมาย คือ แก้ไขปัญหาหรือสนองความต้องการที่ระบุไว้หรือไม่ มีประโยชน์ ประหยัดค่าใช้จ่าย ปลอดภัยต่อผู้ใช้หรือสิ่งแวดล้อม ทนทาน และสวยงานหรือไม่ หากยังไม่ดัพอก็ต้องปรับปรุงแก้ไขไปจนกว่าจะได้ผลงานหรือวิธีที่ดีที่สุด
กระบวนการเทคโนโลยีในแต่ละประเทศอาจมีจำนวนขั้นตอนไม่เท่ากัน แต่มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ต้องการให้ทำงานอย่างเป็นขั้นตอน มีความคิดสร้างสรรค์และรู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเอง
การประยุกต์การออกแบบเทคโนโลยีเพื่อชีวิต
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อชีวิต เป็นแนวทางการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จึงมีการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็วในการใช้ชีวิตประจำวัน
การออกแบบเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต
มนุษย์ต้องอาศัยปัจจัย4 ในการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค ดังนั้นจึงมีการนำเทคโนโลยเข้ามาตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต เช่น การสร้างเครื่องจักรสำหรับทำการเกษตร เพื่อสร้างอาหาร ทำให้ประหยัดแรงงานและได้ผลผลิตที่มากขึ้น
การสร้างเครื่องจักรสำหรับทำการเกษตร เพื่อสร้างอาหาร ทำให้ประหยัดแรงงานและได้ผลผลิตที่มากขึ้น
การออกแบบเทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบาย
เทคโนโลยีทำให้ชีวิตประจำวันของเรา สะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น เช่น การติดต่อสื่อสารกันโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้การติดต่อสื่อสารได้เร็วทันใจ
การติดต่อสื่อสารกันโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำให้การติดต่อสื่อสารได้เร็วทันใจ
การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์
เทคโนโลยีเป็นสิ่งของเครื่องใช้หรือวิธีการที่มนุษย์ได้สร้างและพัฒนาขึ้นมา มีทั้งเทคโนโลยีที่มีประโยชน์และเทคโนโลยีที่มีโทษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องรู้จักเลือกใช้อย่างสร้างสรรค์
ความสำคัญของการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์
การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เป็นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความปลอดภัย เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น สะดวกสบายมากขึ้น ปราศจากโรคภัย อุบัติเหตุและหนี้สิน มีเงินออม รวมถึงสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลายเนื่องจากมลพิษทางน้ำ เสียง กลิ่น หมอกและควัน
แนวทางการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์
การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ มีแนวทางดังนี้
1.เลือกใช้เทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการได้ เช่น รถไฟฟ้าช่วยให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็ว
รถไฟฟ้าช่วยให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็ว
2.เลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย เช่น การเลือกใช้กล้องวงจรปิดในร้านค้าเพื่อป้องกันการโจรกรรม
รถไฟฟ้าช่วยให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็ว
3.เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น เช่น การใช้รถยนต์ที่เหมาะต่อการเดินทางขึ้น-ลงภูเขา วิ่งบนเนินเขาได้ดี สำหรับชาวเขาที่อาศัยอยู่บนภูเขาหรือท้องถิ่นทุรกันดาร
การใช้รถยนต์ที่เหมาะต่อการเดินทางขึ้น-ลงภูเขา
4.เลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกใช้หลอดไฟแบบประหยัดไฟ เพราะจะทำให้เสียค่าไฟลดลง และยังช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย
การเลือกใช้หลอดไฟแบบประยัดไฟทำให้เสียค่าไฟลดลง และยังช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า
การจัดการเทคโนโลยี
พลังงานหมุนเวียน
พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) คือ พลังงานที่ได้จากแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติและสามารถผลิตทดแทนได้ไม่มีวันหมด เช่น แสงอาทิตย์ น้ำ ลม ความร้อนใต้พิภพ ชีวมวล เป็นต้น พลังงานหมุนเวียนมีด้วยกันหลายรูปแบบ ดังนี้
1.พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่เกิดจากการใช้กระจกหรือแสงรับแสงแดด รวมแสงหรือดูดซับรังสีความร้อน เพื่อนำไปใช้ในการหุงต้มอาหาร ต้มน้ำให้เดือด และผลิต พลังงานไฟฟ้า
บ้านที่ติดตั้งแผงรับแสงแดด
2.พลังงานน้ำ เป็นพลังงานที่เกิดจากคลื่นในทะเล หรือกระแสน้ำที่เกิดจากภาวะน้ำขึ้น-น้ำลงในเขื่อนกักเก็บน้ำ หรือแม่น้ำลำธาร ซึ่งสามารถนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าได้
เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีส่วนช่วยในการผลิตพลังงานไฟฟ้า
3.พลังงานลม เป็นพลังงานที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของลม ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยอาศัยกังหันลมที่หมุนและขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
กังหันลมช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าได้
4.พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นพลังงานความร้อนภายใต้โลก ซึ่งทำให้น้ำใต้ดินมีอุณหภูมิสูงขึ้น เมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูงถูกสูบขึ้นมา และส่งจ่ายไปตามบ้านเรือน จะสามารถให้ความร้อนแก่บ้านเรือนหรือตัวอาคารได้ นอกจากนี้ไอน้ำที่เกิดจากแหล่งความร้อนเช่นเดียวกันนี้ สามารถนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าได้
5.พลังงานชีวมวล เป็นพลังงานที่เกิดจากซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ ขยะชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว กากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำทิ้งด้วยวิธีทางชีววิทยา หรือกากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ฟางข้าว กากอ้อย กากมันสำปะหลัง เศษไม้ เศษยางพารามาเผาไหม้ หมักและกลั่น หรือสกัดให้เป็นเชื้อเพลิง เช่น แก๊สชีวภาพ หรือแก๊สมีเทน ไบโอดีเซล ที่สามารถใช้ทดแทนน้ำมันเบนซินและดีเซลทั่วไปได้
ไบโอดีเซล เป็นเชื้อเพลิงเหลวจากการสกัดน้ำมันพืช ไขมันสัตว์หรือสาหร่าย
เทคโนโลยีสะอาด
เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology หรือ CT) คือ การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนากระบวนการผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย รวมถึงช่วยลดค่าใช่จ่ายในการผลิตด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า 4R ได้แก่ Reuse Repair Reduce และ Recycle ดังนี้
1.รียูส (Reuse) หรือใช้แล้วใช้อีก เป็นการลดการใช้ทรัพยากรโดยนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ในลักษณะเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรง เช่น กล่องพลาสติกมีฝาปิด กล่องและลังกระดาษ ถุงกระดาษ ถุงผ้า ยางรัดของ เป็นต้น
การนำยางรัดของมาใช้อีกครั้ง เป็นการรียูสอีกวิธีหนึ่ง
2.รีแพร์ (Repair) หรือซ่อมแซมใช้ซ้ำ เป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วและมีตำหนิมาซ่อมแซมหรือดัดแปลงให้กลับมาใช้ใหม่ได้อีก เช่นกางเกงขายาวที่ปลายขามีรอยขาด นำมาตัดเย็บเป็นกางเกงขาสั้น กางเกงยีนปลายขาขาดชำรุดเป็นรูทั้งสองข้าง นำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋า เป็นต้น
กระเป๋ายีนที่ตัดเย็บจากกางเกงยีน
3.รีดิวซ์ (Reduce) หรือลดการใช้ให้น้อยลง เป็นการใช้วิธีลดการใช้ทรัพยากรหรือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆให้น้อยลง เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์และบันทึกเอกสาร ช่วยลดการใช้กระดาษได้ เป็นต้น
การใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์และบันทึกเอกสาร ช่วยลดการใช้กระดาษได้
4.รีไซเคิล (Recycle) หรือหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ แก้ว พลาสติก เหล็ก อะลูมิเนียม ลวดทองแดง ที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านกระบวนการผลิตภัณฑ์ชนิดเดิม หรือผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่
ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว กระถางต้นไม้และถุงดำ
การมีส่วนร่วมในการรีไซเคิลสามารถทำได้โดยคัดแยกขยะแต่ละประเภท ได้แก่ แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล และนำขยะที่รีไซเคิลไปขาย บริจาค หรือนำเข้าโครงการธนาคารขยะ กิจกรรมขยะแลกไข่ เพื่อเข้าสู่วงจรของการนำไปผ่านกระบวนการผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
สรุปเนื้อหา
กระบวนการเทคโนโลยี เป็นขั้นตอนการแก้ปัญหาหรือสนองความหรือสนองความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน และเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเพื่อให้ได้สิ่งของเครื่องใช้หรือวิธีการที่สามารถแก้ปัญหาและสนองความต้องการนั้น โดยขั้นตอนของกระบวนการเทคโนโลยีประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1.การกำหนดปัญหาหรือความต้องการ 2.การรวบรวมข้อมูล 3.การเลือกวิธีการ 4.การออกแบบและปฏิบัติการ 5.การทดสอบ 6.การปรับปรุงแก้ไข 7.การประเมินผล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อชีวิต เป็นแนวทางการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จึงมีการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็วในการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่ง เทคโนโลยีเป็นสิ่งของเครื่องใช้หรือวิธีการที่มนุษย์ได้สร้างและพัฒนาขึ้นมา มีทั้งเทคโนโลยีที่มีประโยชน์และเทคโนโลยีที่มีโทษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องรู้จักเลือกใช้อย่างสร้างสรรค์ และเมื่อมีเทคโนโลยีแล้วก็จะต้องรู้จักกับการจัดการเทคโนโลยีด้วย การจัดการเทคโนโลยี เป็นแนวทางการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ไม่มีโทษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี 2 แนวทางที่น่าสนใจ ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน คือ 1.พลังงานที่ได้จากแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติและสามารถผลิตทดแทนได้ไม่มีวันหมด และ 2.เทคโนโลยีสะอาด คือ การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนากระบวนการผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ