กลับมาอีกครั้งกับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเครื่องบิน ผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับเครื่องบินไว้หลายเรื่องแล้ว ส่วนในบทความนี้เราจะพาไปตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับเครื่องบินในเรื่องของ “หน้าต่างเครื่องบิน” กัน เพราะจริง ๆ
แล้วที่นั่งที่เป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับผู้โดยสารก็คือที่นั่งริมหน้าต่าง หรือที่เรียกว่า Window Seat (ส่วนที่นั่งแถวกลางและที่นั่งติดทางเดินจะเรียก Middle Seat และ Aisle Seat → อ่านว่า อาย – เลอะ – ซีท ไม่ต้องออกเสียงตัว S) เพราะจะได้เห็นวิวท้องฟ้าสวย ๆ ถ้าเดินทางเวลากลางวัน และยังจะได้เห็นวิวแสงไฟจากภาคพื้นดินถ้าเดินทางในเวลากลางคืน ซึ่งนับว่าคุ้มค่ามาก ๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องแลกมาด้วยความลำบากเมื่อต้องการไปเข้าห้องน้ำในระหว่างการเดินทาง และเรื่องที่เราจะตั้งคำถามเกี่ยวกับหน้าต่างเครื่องบินกันในวันนี้ก็คือ “คุณเคยสังเกตไหมว่า หน้าต่างของเครี่องบินนั้นจะมีลักษณะโค้งมน (Oval) เสมอ!”
ภาพหน้าต่างบนเครื่องบิน
ที่มา https://pixabay.com/, StockSnap
พออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วอยากให้ผู้อ่านหยุดเพื่อคิดด้วยตนเองก่อน จะผิดหรือจะถูกนั้นไม่เป็นอะไร แต่อยากให้ลองใช้และฝึกฝนตรรกะทางความคิดกันดู
เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษที่อุตสาหกรรมทางด้านการบิน ได้ใช้งบประมาณในการพัฒนานวัตกรรมการออกแบบอากาศยาน ให้ทันสมัยและมีความปลอดภัยสูงสุด จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากเครื่องร่อนที่ไม่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ไม่สามารถเดินทางได้ตามต้องการ มาสู่ยุคที่การขนส่งทางอากาศเป็นหนึ่งในทางเลือกทั่ว ๆ ไปของการเดินทาง สามารถเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศหรือทวีปได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว สามารถขนส่งสินค้าได้ทันตามความต้องการของลูกค้าและตลาด หรือกระทั่งสามารถเดินทางออกนอกโลกได้ก็เกิดขึ้นได้แล้วเช่นกัน และยังเป็นการเดินทางที่ได้ขึ้นชื่อว่า “มีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก” ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจมีเหตุผลมาจากการคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดในการออกแบบอากาศยาน
ในอดีตนั้นเครื่องบินที่ทำความเร็วได้น้อยและบินที่ความสูงไม่มาก และมีการใช้งานหน้าต่างที่มีลักษณะเหลี่ยม แต่พอมีการพัฒนาการออกแบบเครื่องบินจนสามารถบินที่ความเร็วสูง 700 – 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินที่ความสูงถึง 20,000 – 40,000 ฟุต การออกแบบในลักษณะเดิมจึงไม่สามารถทำได้อีกต่อไปเพราะอาจทำให้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ทำไมหน้าต่างทรงเหลี่ยม (Square) ถึงอันตราย?
คำตอบก็คือมุมเหลี่ยมนั้นมักจะเป็นจุดที่อ่อนแอที่สุดและมีโอกาสเสียหายได้ง่ายที่สุด เพราะเป็นจุดที่ทางวิศวกรรมเรียกว่า Stress concentration หรือก็คือ จุดที่การกระจายของความเค้นมารวมตัวกันมากที่สุด (ความเค้น คือ แรงที่เกิดขึ้นภายในเนื้อวัตถุซึ่งเป็นการตอบสนองต่อแรงภายนอกที่มากระทำ) ส่วนแรงที่มากระทำอย่างซ้ำ ๆ กับมุมทั้ง 4 ก็คือแรงดันของอากาศนั่นเอง (ที่มีแรงกระทำอยู่ตลอดมีสาเหตุมาจากการที่ความดันภายในเครื่องบิน ทั้งภายในห้องผู้โดยสาร ห้องเก็บสัมภาระ กับความดันภายนอกเครื่องบินนั้นไม่เคยเท่ากันเลยตลอดเวลาที่ทำการบิน)
แล้วทำไมหน้าต่างทรงกลม (Curved) ถึงปลอดภัยกว่า?
ก็แน่นอนว่าเป็นเพราะลักษณะโค้งมนนั้นไม่ทำให้เกิด Stress concentration เนื่องจากมีการกระจายตัวของความเค้นอย่างสม่ำเสมอมากกว่า ซึ่งส่งผลดีต่อโครงสร้าง มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะช่วยลดโอกาสการในการเกิดความเสียหาย เช่น การแตกหรือการร้าวของพื้นผิวเครื่องบิน ทั้งยังสามารถทนต่อการเสียรูปได้มากกว่า จึงทำให้สามารถรับมือกับเรื่องความแตกต่างของความดันได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
แหล่งที่มา
Lindsey Olander (2017, 7 Feb). The Strange Reason Why Airplane Windows are Round. Retrieved June 5, 2019, from https://www.travelandleisure.com/articles/why-are-airplane-windows-round
CORROSIONPEDIA. Stress Concentration Factor (Kt). Retrieved June 5, 2019, from https://www.corrosionpedia.com/definition/1035/stress-concentration-factor-kt