เมืองสุโขทัย ถือเป็นราชธานีแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย เมื่อ 7 ร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยคำว่า สุโขทัย มาจากคำว่า สุข + อุทัย เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นรุ่งอรุณแห่งความสุข
เป็นที่ก่อเกิดลายสือไทยตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเมื่อปี พ.ศ. 1826 หลังจากอาณาจักรอยุธยาเข้มแข็งเมืองสุโขทัยก็อ่อนแอลงและถูกลดความสำคัญลงไปโดยทางอยุธยาได้ไปพัฒนาเมืองพิษณุโลกขึ้นแทน เพื่อกันการแข็งเมืองของสุโขทัย
สุโขทัย ยุคใหม่ เมื่อเกือบร้อยปีก่อนเป็นจังหวัดสวรรคโลก ต่อมาได้ลดจังหวัดสวรรคโลกลงเป็นอำเภอ ละยกฐานะอำเภอสุโขทัยธานี เป็นจังหวัดสุโขทัย แทน ประวัติศาสตร์ในอดีตจึงเป็นเพียงตำนานแห่งความทรงจำ คนรุ่นใหม่จึงรู้จักแต่เพียงจังหวัดสุโขทัย แต่ก็คงไม่มีใครไปรื้อฟื้นจังหวัดสวรรคโลกขึ้นมาอีก เพราะอย่างไรก็ตามเราก็ภูมิใจในความเป็นจังหวัดสุโขทัย ในฐานะเมืองหลวงแห่งแรกของไทย
ภาษาสุโขทัย มีความเป็นเอกลักษณ์ที่คนจากที่อื่นๆได้ฟังอาจสงสับเพราะมองว่าเป็นคำพูดเหน่อๆ เหมือนกับที่คนกรุงเทพฯบอกว่าสุพรรณบุรี อีสาน ปักษ์ใต้ คำเมือง เหน่อ แต่ก็ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ เป็นเสน่ห์ของความเป็นไทย นอกจากสำเนียงที่เหน่อแล้ว เรายังมีคำศัพท์หลายคำที่แตกต่างไปจากที่อื่น ซึ่งตอนนี้ภาษาและสำเนียงสุโขทัยอาจจะค่อยๆเลือนหายไปเพราะเด็กยุคใหม่พูดสำเนียงกลางกันเกือบหมดแล้ว ส่วนผมตอนที่ไปเรียนเชียงใหม่ ถ้าเจอเพื่อนหรือคนสุโขทัยก็จะส่งสำเนียงสุโขทัยด้วยความภูมิใจทันที ทุกวันนี้ก็พูดภาษาสุโขทัยกับแม่ทุกวัน แต่พูดคำกลางกับลูกและภรรยา ส่งผลให้ลูกผมเกิดการพูดสำเนียงลูกผสมที่ไม่รู้ว่าที่ไหนแน่ระหว่างสุโขทัย ลำปาง บ้านตาก เมื่อ 10 ปีก่อนผมเคยคิดที่จะทำพจนานุกรมภาษาสุโขทัยด้วยแต่ก็ไม่ได้ทำสักที
พูดเรื่องศัพท์ก่อนมีคำเฉพาะบางคำที่เรียกไม่เหมือนภาษากลาง เช่น ขี้ปุ๋น หมายถึงฝรั่ง ไน้ หมายถึงละลาย มุ่นหมายถึงลอด ส้มหมายถึงมะม่วง ถุงยาง = ถุงพลาสติก , เส้นแกงร้อน = วุ้นเส้น เป็นต้น
ในส่วนของสำเนียงก็จะมีการเรียกที่ออกเสียงแตกต่างจากภาษากลาง เช่น มิด = มีด , ไร้ = ไร่ , เสือ = เสื่อ , เสื่อ = เสือ , พู๊ด = พูด , เต๊ะ = เตะ
ถ้าดูง่ายๆก็คือถ้าเสียงวรรณยุกต์ไม้เอก จะกลายเป็นเสียงไม้ตรี ถ้าเป็นอักษรสูงจากเสียงสามัญจะกลับเป็นเสียงเอก ถ้าเป็นเสียงเอก จะกลับเป็นสามัญ
การประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ คือ ลายสือไทย สันนิษฐานว่า ดัดแปลงมาจากตัวอักษรขอมหวัด และมอญโบราณ นับว่าเป็นมรดกอันยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมสุโขทัย อักษรไทย ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ขึ้น มีลักษณะการวางรูปตัวอักษร คือ สระ พยัญชนะ จะอยู่บรรทัดเดียวกัน สระจะอยู่หน้าพยัญชนะ มีวรรณยุกต์เพียง ๒ รูป คือ เสียงเอกและเสียงโท ในสมัยต่อมาได้มีการปรับปรุง โดยนำสระเขียนไว้ ข้างล่าง ข้างบน ข้างหน้า และข้างหลังของพยัญชนะ เพิ่มวรรณยุกต์จนออกเสียงได้ครบ และได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเป็น อักษรที่ใช้กันทุกวันนี้ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์ตัวอักษรแล้ว โปรดฯให้จารึกเรื่องราวสมัยสุโขทัยลงในหลักศิลาจารึก โดยมีหลักศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นหลักแรก ที่แสดงถึงเรื่องอักขรวิธีของภาษาไทยและเรื่องราวต่างๆ ด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของสุโขทัย
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://sites.google.com/site/prawatisassukhothay/phasa