น้ำเกลือ หรือชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า fluid replacement therapy
หมายถึง สารน้ำที่ใช้เพื่อทดแทนน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย
องค์ประกอบของน้ำเกลือ ได้แก่ น้ำและเกลือ สำหรับบางขวดก็มีน้ำตาลผสมอยู่ด้วย เพื่อให้พลังงานแก่ผู้ป่วย
น้ำเกลือ ที่ให้ทางเส้นเลือดนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ Crystalloid และ Colloid แปลเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ก็คือน้ำเกลือความเข้มข้นต่ำ และความเข้มข้นสูงตามลำดับ
(อาจจะแปลไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่คิดว่าแบบนี้น่าจะเข้าใจง่ายครับ)
น้ำเกลือแบบความเข้มข้นสูงนั้นจะถูกใช้ในกรณีผู้ป่วยกรณีเฉพาะ เช่น ผู้ป่วยสมองบวม ผู้ป่วยไข้เลือดออกช็อกที่ควบคุมไม่ได้
น้ำเกลือที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ เกือบทั้งหมด จะเป็นน้ำเกลือความเข้มข้นต่ำ
น้ำเกลือ หรือ fluid replacement therapy คือสารประกอบที่ประกอบด้วยน้ำผสมกับเกลือ จัดเป็นสารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte)/สารเกลือแร่ชนิดเหลวที่มีองค์ประกอบของเกลือแกง (Sodium chloride) บริสุทธิ์ที่เรียกว่า “Pharmaceutical grade” โดยมีความเข้มข้นของสารละลายได้หลากหลายเช่น 0.9% หรือ 0.45% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสูตรตำรับยาที่มีวัตถุประสงค์การใช้แตกต่างกันออกไป ค่าความเป็นกรด-ด่างหรือที่เรียกกันว่าค่าพีเอช (pH) ของสารละลายน้ำเกลือจะอยู่ที่ 5.5 หรือในช่วง 4.5 – 7
โดยส่วนใหญ่การให้น้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อจะให้ทางหลอดเลือดดำก็เพื่อปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายแล้ว โดยเป็นการเจือจางของยาฉีดชนิดต่าง ๆ เพื่อฉีดเข้าเส้นเลือดหรือหลอดเลือดโดยเฉพาะหลอดเลือดดำ และในบางครั้งก็ผลิตออกมาเป็นน้ำยาล้างแผล น้ำยาทำแผล ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแสบขณะสัมผัสกับบาดแผล รวมไปถึงใช้เป็นน้ำยาล้างจมูกกรณีที่ป่วยด้วยโรคไซนัสอักเสบ รวมถึงใช้เป็นยาหยอดหูเพื่อบรรเทาอาการอักเสบของช่องหู
น้ำเกลือความเข้มข้นต่ำที่นิยมใช้กันมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันครับ
1) 5% DN/2 เป็นน้ำเกลือที่นิยมให้ในผู้ใหญ่ทั่วไป 5%D นั้นหมายถึงในน้ำเกลือนั้น
มีน้ำตาลชนิด Dextrose อยู่ 5% หรือ 50 g/L ส่วน N/2 หมายถึง มีเกลือ (NaCl) อยู่ครึ่งหนึ่งของระดับเกลือในเลือด
นิยมให้กันในผู้ป่วยทั่ว ๆ ไป เนื่องจากมีน้ำตาลผสมให้พลังงาน และระดับเกลือไม่สูงมาก จึงค่อนข้างปลอดภัยกว่าเกลือชนิดอื่น ๆ
2) 0.9%NaCl หรือ NSS (Normal Saline) เป็นน้ำเกลือที่นิยมให้ในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำรุนแรง เช่น ในผู้ป่วยอุจจาระร่วงรุนแรง หรือให้ในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก
เนื่องจากมีเกลืออยู่เท่ากับระดับเกลือในเลือด (N ไม่มีตัวหาร) ทำให้รักษาภาวะการขาดน้ำ และภาวะช็อกได้ดี
3) 5%DN/3 เป็นน้ำเกลือที่นิยมให้ในเด็ก เนื่องจากมีการปรับระดับเกลือให้เหมาะสมกับระดับเกลือในเลือดของเด็ก ซึ่งจะต่ำกว่าระดับเกลือในเลือดของผู้ใหญ่
ส่วนน้ำเกลือชนิดอื่น ๆ นั้นจะให้ในผู้ป่วยเฉพาะบางโรค ซึ่งแพทย์จะปรับใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละประเภทครับ
ประโยชน์ของน้ำเกลือ
1) ใช้รักษาภาวะการขาดน้ำ เนื่องจากท้องเสีย อาเจียนรุนแรง หรือดื่มน้ำไม่ได้เลย เช่น ในผู้ป่วยหลอดอาหารอุดตัน เป็นต้น
2) ใช้รักษาภาวะช็อก เนื่องจากเสียเลือด เสียน้ำ หรือจากสาเหตุอื่น ๆ
3) ให้พลังงานทดแทนเป็นการชั่วคราว ในกรณีผู้ป่วยรับประทานอาหารและน้ำไม่ได้ เช่น ในผู้ป่วยที่หมดสติ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการให้อาหารทางจมูกเมื่อผู้ป่วยพร้อม
4) ใช้รักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากอดอาหารนาน ๆ ดื่มเหล้าจัด หรือใช้ยารักษาเบาหวานเกินขนาด
5) ให้น้ำ และพลังงานทดแทนในผู้ป่วยที่งดอาหารและน้ำก่อนและหลังผ่าตัด
อันตรายของน้ำเกลือ
1) ถ้าเครื่องใช้และน้ำยาไม่สะอาด หรือเทคนิคการให้ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Phlebitis
เกิดอาการบวม แดง ร้อนตรงบริเวณที่แทงเข็ม ซึ่งการติดเชื้อในบริเวณนี้ เชื้อจะสามารถวิ่งสู่หัวใจทางเส้นเลือดดำได้โดยตรง และแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว
เกิดภาวะที่เรียกว่า Sepsis ซึ่งมักจะทำให้ช็อก และเป็นอันตรายถึงชีวิต
2) ถ้ามีฟองอากาศ เพราะไล่อากาศจากสายน้ำเกลือไม่หมด ฟองอากาศจะเข้าไปในหลอดเลือดดำ และวิ่งเข้าสู่หัวใจ ก่อนจะถูกส่งไปอุดตันเส้นเลือดที่ปอด
อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ครับ
3) ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการแพ้น้ำเกลือ ทำให้มีอาการไข้และหนาวสั่นได้ครับ
4) ถ้าให้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นของเกลือมากกว่าระดับเกลือในเลือดในปริมาณมากเกินไป อาจเป็นอันตรายถึงตายได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่มีระดับเกลือในเลือดต่ำกว่าเด็กโต และผู้ใหญ่
เนื่องจากเกลือที่มีมากเกินไปจะดูดน้ำในร่างกายเข้าสู่เส้นเลือด ทำให้ปริมาตรน้ำในเส้นเลือดมีมากกว่าปกติ
และเกิดภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต ซึ่งกรณีนี้จะไม่สามารถเกิดได้เลยในน้ำเกลือแบบดื่มทางปาก เพราะว่าลำไส้จะดูดซึมเกลือ เฉพาะในส่วนที่ขาดเท่านั้น
5) ถ้าให้น้ำเกลือมากหรือเร็วเกินไป อาจทำให้ตัวบวม มีน้ำคั่งในปอด หรือหัวใจวายถึงตายได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก คนสูงอายุ คนที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคไต