ปลาการ์ตูน
ปลาการ์ตูนปลาการ์ตูน เป็นปลาที่น่ารักสีสันสวยงามจนได้ฉายาว่า…การ์ตูน ชื่อที่ได้มาคงมาจากสีสันความน่ารักของมันเราๆ ท่านๆ ก็คงรู้จักปลาการ์ตูนกันมาบ้างแล้วเพราะว่าปลาการ์ตูนแสนสวยได้กลายเป็นปลาสวยงามที่คนนิยมเอามาเลี้ยงในตู้กันมานานแล้ว ชื่อเสียงของปลา
การ์ตูนดังยังกะพลุแตกก็ตอนที่มีภาพยนต์การ์ตูนเรื่อง Finding Nemo หรือ ปลาเล็กหัวใจโต๊โต ซึ่งมีปลาการ์ตูนที่ชื่อว่า เจ้านีโมเป็นพระเอก ความดังของปลาการ์ตูนทำให้ปลาการ์ตูนขาดตลาดเพราะมีคนนิยมซื้อไปเลี้ยงกันมาก ถ้าเรารักปลาการ์ตูนก็ไม่ควรซื้อมันไปเลี้ยง เราควรปล่อยให้มันใช้ชีวิตที่สวยงามอยู่ในท้องทะเลดีกว่า เวลาเราอยากจะเห็นมันเราก็ไปเที่ยวทะเลดำน้ำดูเจ้าปลาการ์ตูนน่ารักที่ว่ายซุกตัวไปมาอยู่ในกอดอกไม้ทะเล
เจ้านีโม ทำไมจึงเรียกว่า นีโม ชื่อจริงๆ ของปลาการ์ตูนคือ Anemonefish ประกอบด้วยคำ 2 คำคือ Anemone + fish ความหมายของ Anemone ก็คือดอกไม้ทะเล ส่วนคำว่า fish ก็คือปลา ชื่อของปลาการ์ตูนก็คือ ปลาดอกไม้ทะเล หรือปลาที่อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเล ชื่อนีโม คงย่อมาจาก Anemonefish
เผ่าพันธ์ของปลาการ์ตูนคงอยู่ไม่สูญไปง่ายๆ เพราะมันมีวิวัฒนาการที่ล้ำลึก คือมันสามารถเปลี่ยนเพศได้ ถ้าหากตัวเมียในกลุ่มตายไปจนไม่มีตัวเมียสืบเหล่าพันธุ์ ตัวผู้ในกลุ่มก็จะวิวัฒนาการกลายเป็นตัวเมียทำหน้าที่วางไข่ต่อไป ถึงแม้ปลาการ์ตูนจะโดนจับไปมากแต่มันก็มีเกิดมาทดแทนมาก ปลาการ์ตูนจะไข่เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 500-100 ฟอง วางไข่เพียง 7-8 วันก็ฟักออกมาเป็นตัว ลูกปลาการ์ตูนที่เกิดใหม่ก็จะไปหากอดอกไม้ทะเลเป็นที่หลบภัย
ปลาการ์ตูนไม่ใช่จะมีเพียงสีเดียวเหมือนกับเจ้านีโมพระเอกของเรื่องเท่านั้นนะครับ ปลาการ์ตูนมีหลายชนิด ปลาการ์ตูนนีโมเป็นเพียงปลาการ์ตูนชนิดหนึ่งที่ชื่อ ปลาการ์ตูนส้มขาว เรียกชื่อตามสีของมัน ในโลกนี้มีปลาการ์ตูนหลากสีกว่า 28 ชนิด ( ที่ใช้คำว่ากว่าก็เพราะว่ายังมีบางชนิดที่ยังไม่ค้นพบ ) เฉพาะที่พบในเมืองไทยมีประมาณ 10 ชนิด บางชนิดก็หาดูได้ง่ายๆ บางชนิดก็หาดูยาก ความสวยงามและสีสันของแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไป
การเพาะพันธ์ปลาการ์ตูน
การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์
1. พ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ที่จับคู่กันอยู่แล้วจะช่วยให้พ่อแม่พันธุ์วางไข่ได้เร็วขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถหาพ่อแม่พันธุ์ที่จับคู่จากธรรมชาติได้ ก็สามารถทำการจับคู่ให้ปลาการ์ตูนได้ เช่น
– การจับคู่โดยใช้พฤติกรรมการจัดลำดับชั้นทางสังคมและการเปลี่ยนเพศ
– การจับคู่โดยใช้ขนาดซึ่งเพศเมียจะใหญ่กว่าเพศผู้
- พ่อแม่พันธุ์จากการเพาะเลี้ยง เป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ได้จากโรงเพาะฟัก ซึ่งปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการ เพื่อลดปัญหาการจับปลาจากธรรมชาติ
ข้อมูลที่ควรรู้ในการจับคู่ปลาการ์ตูน
ปลาการ์ตูนไม่มีโครโมโซมเพศ การกำหนดเพศโดยโครงสร้างทางสังคม ปลาการ์ตูนจะสมบูรณ์
เพศเมื่อมีอายุระหว่าง 12 – 18 เดือน โดยขึ้นอยู่กับชนิดการเปลี่ยนเพศของปลานั้นจะเกิดขึ้นอย่าง
รวดเร็ว สังเกตได้จากปลาที่เจริญเติบโตรวดเร็วภายใน 1 – 2 เดือน หลังจากผ่านการจัดลำดับชั้น
ทางสังคมแล้วปลาการ์ตูนเปลี่ยนเพศเป็นเพศเมียแล้วจะไม่เปลี่ยนเป็นเพศผู้ แต่ปลาเพศผู้สามารถ
เปลี่ยนเป็นเพศเมียได้
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
ศูนย์ฯสมุทรสาครเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในบ่อซีเมนต์ขนาด 8 ลบ.ม.โดยทำระบบกรองน้ำแบบกรองทราย
ภายในบ่อ ความเค็มน้ำ 30 – 32 ส่วนในพันส่วน เปลี่ยนถ่ายน้ำเดือนละ 1 – 2 ครั้ง ประมาณ
30 – 40% อาหารที่ให้มีทั้งอาหารสด เช่น กุ้งสดผสมกับหอยแมลงภู่สับ ปลาหมึก และเพรียงทราย
หรืออาหารมีชีวิต เช่น อาร์ทีเมียตัวเต็มวัย ให้กินจนอิ่มวันละ 2 มื้อ เช้า – เย็น
การรวบรวมลูกปลาแรกฟัก
หลังจากปลาวางไข่แล้ว 7 – 8 วันไข่ฟักออกมาเป็นตัว ศูนย์ฯสมุทรสาครใช้วิธีให้ไข่ฟักในบ่อเลี้ยง
โดยทำกระชังคล้ายโพงพางไว้ดักลูกปลาเมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัวก็จะตักลูกปลาไปอนุบาลต่อใน
ถังซีเมนต์ ลูกปลาฟักในเวลากลางคืน
การวางไข่และการพัฒนาของไข่
ก่อนที่ปลาจะวางไข่ 2 – 5 วัน ปลาตัวผู้จะเลือกวัสดุและทำความสะอาดโดยใช้ปากตอด ใช้ครีบอกและครีบหางโบกพัดสิ่งอื่นๆ ที่ติดอยู่บนผิวหน้าของวัสดุให้หลุดไป เมื่อใกล้วางไข่ปลาตัวเมียจะมีท้องที่อูมเป่งกว่าปกติและมีท่อนำไข่โผล่ออกมา แม่ปลาวางไข่ติดกับวัสดุที่เลือกไว้โดยวางเป็นชุดๆ พ่อปลาจะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสม เมื่อแม่ปลาวางไข่เสร็จพ่อปลาจะเฝ้าดูแลไข่ แม่ปลาจะเข้ามาช่วยบ้างเป็นครั้งคราว แม่ปลาใช้เวลาวางไข่ 1 – 2 ชั่วโมงและใช้ระยะเวลาประมาณ 7 – 8 วัน
คุณภาพน้ำและการจัดการ
น้ำทะเลที่ใช้อนุบาลลูกปลาการ์ตูนของศูนย์ฯสมุทรสาคร เป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดด้วย
แคลเซียมไฮโปคลอไรด์ มีความเค็ม 30 – 32 ส่วนในพันส่วนระหว่างการอนุบาลให้อากาศ
ตลอดเวลา และเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 20 – 30%ทุกวัน พร้อมดูดตะกอนก้นบ่อ ในการเปลี่ยน
ถ่ายน้ำและดูดตะกอนต้องทำอย่างนิ่มนวล เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจทำ
ให้ลูกปลาช็อกได้
อาหารและการให้อาหาร
ปลาแรกฟักถึงอายุ 10 วันให้โรติเฟอร์เป็นอาหาร ความหนาแน่นประมาณ 5 – 15 ตัว/มล.
พร้อมกับเติมคลอเรลลาให้น้ำมีสีเขียวอ่อนๆ เพื่อเป็นอาหารธรรมชาติกันโรติเฟอร์ก็ได้ เมื่อลูกปลาอายุ 15 วัน เริ่มฝึกให้ลูกปลากินอาร์ทีเมียแรกฟัก เมื่อลูกปลากินอาร์ทีเมียได้ดีแล้วจึงหยุดให้โรติเฟอร์ การให้อาหารให้วันละ 2 มื้อเช้า – เย็น โดยให้กินจนอิ่ม
ปลาการ์ตูนที่พบในประเทศไทย
กุลวิทย์ ลิ่มจุฬารัตน์, 2551(3) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับที่ได้รายงานปลาการ์ตูนที่พบในประเทศไทยทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่
1. ปลาการ์ตูนส้มขาว (False Clown Anemonefish)
ปลาการ์ตูนส้มขาว เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม นิยมนำมาเป็นปลาตู้ ลำตัวมีสีส้ม หรือน้ำตาล มีแถบสีขาว 3 แถบคือบริเวณส่วนหัว 1 แถบ บริเวณลำตัว 1 แถบ และบริเวณหางอีก 1 แถบ แถบสีขาวแต่ละแถบนั้นตรงขอบจะตัดด้วยสีดำ
– ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 10-11 ก้าน และก้านครีบอ่อน 13-17 ก้าน
– ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 11-13 ก้าน
– ครีบอกมีก้านครีบ 16 -18 ก้าน
– เกล็ดบนเส้นข้างตัว 34-48 อัน
– จำนวนซี่กรองบนเหงือกอันนอกสุด 15-17ซี่
ปลาการ์ตูนชนิดนี้มีลำตัวใหญ่ที่สุด ประมาณ 80 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลหลายชนิด
2. ปลาการ์ตูนอินเดียน (Yellow Skunk Anemonefish)
ปลาการ์ตูนอินเดียน ลำตัวมีสีเนื้ออมเหลืองทอง มีแถบขาวพาดกลางหลังตลอดแนวจรดครีบหาง
– ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 8-9 ก้าน และก้านครีบอ่อน 17-20 ก้าน
– ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 12 -14 ก้าน
– ครีบอกมีก้านครีบ 16-18 ก้าน
– เกล็ดบนเส้นข้างตัว 34-45 อัน
– จำนวนซี่กรองบนเหงือกอันนอกสุด 17-20 ซี่
ปลาการ์ตูนชนิดนี้มีลำตัวใหญ่สุดประมาณ 85 มิลลิเมตร มักอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis magnifica และ Stichodactyla mertensii มีการแพร่กระจายในแถบ มหาสมุทรอินเดีย แอฟริกาตะวันออก มาดากัสการ์ ทะเลอันดามัน และหมู่เกาะสุมาตรา
3. ปลาการ์ตูนลายปล้อง (Clark’s Anemonefish)
ปลาการ์ตูนลายปล้อง ลำตัวมีสีดำเข้ม มีครีบอก และหางสีเหลืองทอง มีแถบขาว 3 แถบ ตรงส่วนหัว ลำตัว และโคนหาง
– ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 10-11 ก้าน และมีก้านครีบอ่อน 14-17 ก้าน
– ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 12-15 ก้าน
– ครีบอกมีก้านครีบ 18-21 ก้าน
– เกล็ดบนเส้นข้างตัว 34-45 อัน
– จำนวนซี่กรองบนกระดูกเหงือกอันนอกสุด 18-20ซี่
ปลาการ์ตูนชนิดนี้มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดประมาณ 100 มิลลิเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลทุกชนิด พบแพร่กระจายบริเวณเขตอินโดจีน-แปซิฟิกตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือถึงออสเตรเลียตะวันตก หมู่เกาะเมลานิเชีย ไมโครนิเชีย ไต้หวัน เกาะริวกิว และทางตอนใต้ของญี่ปุ่น
4. ปลาการ์ตูนแดงดำ (Red Saddleback Anemonefish)
ปลาการ์ตูนแดงดำ (ปานดำ) มีลำตัวสีเหลืองส้ม และมีจุดปานสีดำที่ข้างลำตัว บริเวณตรงกลาง
ค่อนไปทางด้านท้ายลำตัว แต่บางครั้งต้นครีบหางใกล้กับครีบหลังอาจมีสีดำจางๆ ร่วมด้วย
– ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 10 หรือ 11 ก้าน และมีครีบอ่อน 16-18 ก้าน
– ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 มีก้านครีบอ่อน 13-14 ก้าน
– ครีบอกมีก้านครีบ 18-20 ก้าน
– เกล็ดบนเส้นข้างตัว 31-44 อัน
– จำนวนซี่กรองบนเหงือกอันนอกสุด 16-20ซี่
ปลาการ์ตูนชนิดนี้มีขนาดลำตัวใหญ่สุดประมาณ 110 มิลลิเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Hetaractis crispa และ Entacmaea quadricolor มีการแพร่กระจายในแถบทะเลอันดามัน อ่าวไทย มาเลเซีย และอินโดนิเซีย
5. ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง (Sebae Anemonefish)
ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง ลำตัวมีสีดำ ส่วนหางมีสีเหลืองทอง มีแถบขาว 2 แถบ แถบแรกพาดอยู่บริเวณหลังตา อีกแถบพาดผ่านท้องมายังครีบหลัง
– ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 10-11 ก้าน และก้านครีบอ่อน 14-17 ก้าน
– ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 13 -14 ก้าน
– ครีบอกมีก้านครีบ 18-19 ก้าน
– เกล็ดบนเส้นข้างตัว 36-43 อัน
– จำนวนซี่กรองบนกระดูกเหงือกอันนอกสุด 15-17ซี่
ปลาการ์ตูนชนิดนี้มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดประมาณ 120 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลบริเวณทรายที่ฝังตัวยึดได้ ได้แก่ Stichodactyla haddoni มักอยู่เป็นคู่ และมีลูกปลาเล็ก 3-4 ตัว อยู่ด้วย มีนิสัยดุร้ายกับปลาการ์ตูนตัวอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว มีการแพร่กระจายในแถบ มหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ คาบสมุทรอินเดีย ศรีลังกา เกาะมัลดีฟส์ ทะเลอันดามัน และหมู่เกาะสุมาตรา
6. ปลาการ์ตูนอานม้า (Saddleback Anemonefish)
ปลาการ์ตูนอานม้า เป็นปลาการ์ตูนชนิดแรกที่ถูกจัดจำแนก โดยถูกระบุชื่อโดย Linnaeus ในปี ค.ศ.1758 ลำตัวมีสีน้ำตาลอมดำ ส่วนหัว อก และครีบอกมีสีส้มอมเหลือง มีแถบขาว 2 แถบ แถบแรกอยู่บนหัว อีกแถบเริ่มตรงบริเวณส่วนหลังของลำตัว เป็นแถบโค้งพาดเฉียงขึ้นไปที่ครีบหลัง นอกจากนั้นปลาการ์ตูนอานม้ายังมีการผันแปรของรูปแบบลายอานม้า โดยชนิดที่ผันแปรนั้นลำตัวจะมีสีดำ หน้าสีเหลือง ครีบหางมีขอบสีขาว ครีบอกบริเวณขอบด้านนอกจะมีสีเหลืองสด และจะมีแถบรูปอานม้าที่บริเวณหัวและหาง ส่วนตรงกลางลำตัวจะไม่พบแถบอานม้า ทำให้ดูคล้ายกับปลาการ์ตูนชนิด A. sebae
ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 10 หรือ 11 มีก้านครีบอ่อน 13-16, ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 มีก้านครีบอ่อน 12-14, ครีบอกมีก้านครีบ 18, จำนวนซี่กรองบนกระดูกเหงือกอันนอกสุด 16-19 มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดประมาณ 100 มิลลิเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิดที่ฝังตัวอยู่ตามพื้นทรายคือ Hetaractis crispa, Stichodactyla haddonni และ Marcrodactyla doreensis มีการแพร่กระจายในแถบ มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก รวมทั้ง เกาะริวกิว จีน เวียดนาม ไต้หวัน อ่าวไทย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ อ่าวคาเปนทาเรีย นิวกินี นิวบริเทน เกาะโซโลมอน
7. ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง (Pink Skunk Clownfish)
ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง มีลักษณะคล้ายกับปลาการ์ตูนอินเดียน (A. akallopisos) มาก คือ มีสีของลำตัวเป็นสีเนื้ออมเหลืองทอง มีแถบขาวพาดตั้งแต่บริเวณส่วนหัวตรงระหว่างตายาวตลอดตามแนวสันหลังมาจนสุด โคนครีบหลัง แต่แตกต่างจากปลาการ์ตูนอินเดียนเฉพาะที่มีแถบขาวเล็กๆพาดลงมาบริเวณหัว 1 แถบ ส่วนครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 9 หรือ 10 มีก้านครีบอ่อน 16-17, ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 มีก้านครีบอ่อน 12-13, ครีบอกมีก้านครีบ 16-18, เกล็ดบนเส้นข้างตัว 32-43, จำนวนซี่กรองบนกระดูกเหงือกอันนอกสุด 17-20 มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดประมาณ 75 มิลลิเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Hetaractis crispa และ Stichodactyla gigantea เป็นต้น มีการแพร่กระจายในแถบ มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก และ ขอบตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย โดยรวมทั้ง ตอนใต้ของญี่ปุ่น เกาะริวกิว ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อ่าวไทย อินโดนิเซียเกาะคริสต์มาส ออสเตรเลียตอนเหนือ นิวกินี นิวบริเทน เกาะโซโลมอน เกาะมาเรียนา เกาะมาร์แชล
แหล่งที่พบในไทย
– Amphiprion ocellaris พบมากในจังหวัด พังงา สตูล พบปานกลางในจังหวัด ภูเก็ต
– Amphiprion akallopisos พบมากในจังหวัด พังงา สตูล พบปานกลางในจังหวัด ภูเก็ต ตรัง และพบน้อยในจังหวัด ระนอง
– Amphiprion clarkii พบมากในจังหวัด พังงา และ สตูล
– Amphiprion ephippium พบมากในจังหวัด สตูล พบปานกลางในจังหวัดพังงา – Amphiprion sebae Bleeker, 1853 พบมากในจังหวัด พังงา
– Amphiprion polymnus พบปานกลางในจังหวัด ชลบุรี
– Amphiprion perideraion พบมากในจังหวัดชลบุรี ระยอง พบปานกลางในจังหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี
ชนิดปลาการ์ตูนที่ในแนวปะการังของไทย
– Amphiprion ocellaris พบน้อย มีจำนวนน้อยกว่า 5 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และพบ 31 -80% ของแนวปะการัง
– Amphiprion akallopisos พบปานกลาง มีจำนวนตัวเฉลี่ยระหว่าง 5-64 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และพบ 31 -80% ของแนวปะการัง
– Amphiprion clarkii พบน้อย มีจำนวนน้อยกว่า 5 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และพบ 5- 30% ของแนวปะการัง
– Amphiprion ephippium พบน้อย มีจำนวนน้อยกว่า 5 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และพบ 5- 30% ของพื้นที่แนวปะการัง
– Amphiprion sebae พบน้อย มีจำนวนน้อยกว่า 5 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และอยู่ในระดับหายาก พบน้อยกว่า 5% ของแนวปะการัง
– Amphiprion polymnus พบน้อย มีจำนวนน้อยกว่า 5 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และอยู่ในระดับหายาก พบน้อยกว่า 5% ของแนวปะการัง
– Amphiprion perideraion พบปานกลาง มีจำนวนประมาณ 5-64 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และพบ 31 -80% ของแนวปะการัง