ปัจจัยที่ส่งผลต่อการคงอยู่ของเชื้อโรค
กับการแพร่กระจายและการระบาดของไวรัสโคโรนา (covid-19)
ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดการติดเชื้อและลุกลามไปทั่วโลก ผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแถบยุโรป เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สเปน อังกฤษ หรือแม้แต่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่หากดูเรื่องความสะอาดและสาธารณูปโภคนั้น ดูจะไม่แตกต่างกับประเทศแถบเอเชียเช่น สิงคโปร์หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเองก็ตาม ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า แล้วทำไมอัตราการตายหรือการติดเชื้อในประเทศแถบยุโรปจึงพุ่งสูงขึ้นรายวันได้แบบก้าวกระโดดกว่าประเทศแถบเอเชียเรา
ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็วนั้นมี หลายช่องทาง ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คน (person-to-person transmission) เป็นช่องทางหลัก ที่เกิดได้จาก 2 ช่องทาง ได้แก่
- การติดต่อผ่านทางละอองฝอยขนาดใหญ่ (Droplet transmission) เมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้
ติดเชื้อภายในระยะ 2 เมตร หรือ 6 ฟุตนั่นเอง หรือผู้ติดเชื้อไอหรือจามแล้วทำให้เกิดละอองฝอยซึ่งสามารถกระเด็นเข้าเยื่อบุตา ช่องปาก เยื่อบุโพรงจมูกโดยตรง หรือหายใจเข้าสู่ปอด
- การติดต่อผ่านทางการสัมผัส (Direct and indirect transmission) เช่น การที่ผู้ติดเชื้อ
นำมือที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะของตนเองไปสัมผัสตามพื้นผิวต่างๆ เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน ลูกบิดประตู แล้วมีผู้ที่ไม่ทันระมัดระวังไปจับพื้นผิวดังกล่าวแล้วกลับมาสัมผัสบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณเยื่อบุตา จมูก ช่องปาก จนได้รับเชื้อต่อมา โดยระยะเวลาที่เชื้อจะคงอยู่ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อ ลักษณะพื้นผิว และอุณหภูมิ ของพื้นผิว พบว่าหากอุณหภูมิสูงขึ้น เช่น 30-40 องศาเซลเซียส เชื้อจะคงอยู่ได้สั้นลง แต่ถ้าหากอุณหภูมิต่ำถึง 4 องศาเซลเซียส เชื้ออาจจะอยู่ได้เป็นเดือน จากการศึกษาแบบจำลองในห้องทดลอง ณ อุณหภูมิ 21-23 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 40% พบว่าสามารถตรวจเชื้อที่ตกค้างอยู่พื้นผิวได้นานถึง 72 ชั่วโมง และบางการศึกษาพบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆอาจจะอยู่ได้ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงจนถึง 9-14 วันบนพื้นผิวที่อุณหภูมิห้อง หรือประมาณ 21 องศาเซลเซียส
วิธีการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ
ถึงแม้ว่าไวรัสโคโรนา (covid-19) จะดูน่ากลัว แพร่กระจายเร็ว และมีโอกาสติดได้ง่าย แต่พวกเราสามารถช่วย ป้องกันตัวเองและคนอื่นที่อาศัยอยู่ร่วมกันได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ด้วยวิธีการต่อไปนี้
1) ตั้งสติ ศึกษาหาข้อมูลและเข้าใจวิธีการแพร่ระบาดของตัวโรคอย่างถูกต้อง
2) หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยืนยันหรือสงสัยโรค
3) ล้างมือบ่อยๆอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะหลังไอ จาม ก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้า ก่อนรับประทานอาหาร หลังการใช้ห้องน้ำ หลังสัมผัสพื้นผิวในที่สาธารณะ เช่น ปุ่มลิฟต์ มือจับประตู ราวบันได
4) ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ (40-60 วินาที) หากทำได้ครบ 11 ขั้นตอนอย่างถูกต้องตาม คำแนะนำของ WHO ก็จะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้ไม่ต่างจากเจลแอลกอฮอล์ และควรใช้วิธีนี้เมื่อมีสิ่งสกปรกหรือสารคัดหลั่งบนมือชัดเจน เช่น หลังไอ จาม มีเสมหะ น้ำมูก หรือสารคัดหลั่งปนเปื้อนบนมือ
5) ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ (20-30 วินาที) ด้วยขั้นตอนการล้างมือเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น ล้างให้ทั่วมือจนแห้ง ไม่ต้องล้างน้ำซ้ำ
6) ใส่หน้ากากอนามัยในกรณีที่มีโอกาสสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ทำงานในโรงพยาบาล สนามบิน คนขับรถ หรือสถานที่แออัด เช่น ผับ โรงหนัง สนามมวย สนามม้า
7) ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ (Disinfectant) ตามพื้นผิวต่างๆ เป็นประจำทุกวัน เช่น โต๊ะ ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ โทรศัพท์ คีย์บอร์ด ชักโครก อ่างล้างมือ ปุ่มกดลิฟต์ บริเวณที่มีการสัมผัสร่วมบ่อยครั้ง จำเป็นต้องทำความสะอาดระหว่างวันอย่างพอเพียง โดยถ้าพื้นผิวมีความสกปรกมากควรใช้สบู่หรือน้ำทำความสะอาดก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อตามพื้นผิว
วิธีป้องกันตัวเองและสังคมจากโรคติดต่อโควิด-19
การป้องกันตัวเองและสังคมจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 เป็นมาตรการที่ประชาชนทุกคนควรทำและให้ความร่วมมือ เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค รวมถึงลดการแพร่กระจายเชื้อในสังคม ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถทำได้ ดังนี้
การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
การรักษาระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ ไม่ว่าจะได้สัมผัสเชื้อหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการหลีกเลี่ยงการจับมือ เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกัน ควรอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร เลี่ยงไปในสถานที่แออัดหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการพักอยู่บ้านหากรู้สึกไม่สบาย การเว้นระยะห่างทางสังคม จะช่วยชะลอการกระจายของไวรัส ซึ่งทำให้ทรัพยากรเพียงพอต่อผู้ที่จำเป็นต้องใช้
การล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หลังจากทำกิจกรรมต่างๆ สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด
การเฝ้าระวังและสังเกตอาการตัวเองนั้น นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสแล้ว หากระหว่างสังเกตพบว่ามีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ ทำให้สามารถเข้ารับการตรวจและรักษาได้ทันท่วงทีอีกด้วย
มาตรการป้องกันการติดเชื้อไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ หรือประชาชนคนใดคนนึง แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำร่วมกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และสังคม
ขอบคุณข้อมูล https://www.scimath.org/