ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นอีกหนึ่งปัญหาภาษีที่มักจะมีคำถามที่ถามกันเข้ามาบ่อย ๆ ไ่ม่ว่าจะจดทะเบียนอย่างไร แบบไหนต้องจดบ้าง รายได้แบบไหนที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปจนถึงการหน้าที่หลังจากการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วต้องทำอย่างไร บทความนี้รวบรวมทุกคำถามที่เจ้าของธุรกิจควรรู้
วันนี้เราจะมาดูกันที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT (Value Added Tax) หนึ่งในภาษีที่หลายคนไม่ชอบมากที่สุด แล้วภาษีมูลค่าเพิ่มนี้เป็นหนึ่งในรายได้หลักของภาครัฐด้วย วันนี้ PEAK ขอใช้ภาษาบ้านๆ มาเล่าเรื่องนี้อย่างง่ายๆ ให้ทุกคนทำความเข้าใจว่าภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร โดยไม่ต้องใช้ภาษากฎหมายนะครับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร?
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เก็บจากมูลค่าการซื้อขายหรือการให้บริการและสินค้านำเข้า โดยกรมสรรพากรเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บภาษีนี้ ซึ่งอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 10% แต่มีการออกกฎหมายพิเศษลดลงมาเหลือ 7% และใช้วิธีต่ออายุแบบรายปี
ใครต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT)
กฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการที่มีการขายสินค้าหรือบริการเกิน 1.8 ล้านบาท / ปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
– จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบบริษัทหรือไม่?
ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบบริษัท ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาท การจดภาษีมูลค่าเพิ่ม คือสิ่งที่ไม่ควรลืม
– VATเก็บจากใคร? ใครจ่าย?
VATเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค “ผู้บริโภคเป็นคนจ่ายภาษี” คนขายหรือผู้ให้บริการไม่ต้องจ่าย VAT นี้
– แล้วใครถือเป็นผู้บริโภค?
เพื่อเข้าใจง่ายๆ ผู้บริโภคก็คือคนที่ไม่ได้จด VAT นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป พนักงานบริษัท และรวมไปถึงบริษัทห้างร้านที่ไม่ได้จด VAT ด้วย
– ใครเป็นผู้ขายหรือผู้ให้บริการ?
ผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่ไม่ต้องเสีย VAT นี้ คือผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่จด VAT แล้วนั่นเอง ซึ่งเป็นได้ทั้งรูปแบบบุคคลธรรมดา เช่น ร้านค้าข้างทางหรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่ได้เปิดบริษัท แต่ว่ายอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทก็ต้องจด VAT
ภาษีมูลค่าเพิ่มใครเก็บ
ในข้อที่แล้วก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่า VAT จะถูกเก็บจากผู้บริโภค และคนที่มีหน้าที่เก็บVATก็คือ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่จด VAT แล้วนั้นเอง
ภาษีขาย คือ
ภาษีขาย คือ VAT ที่เก็บจากลูกค้า และกิจการ ต้องนำส่งให้กรมสรรพากร โดยกิจการจะเรียกเก็บ VAT รวมกับค่าสินค้าหรือบริการ (ราคารวมภาษี) หรือจะแยกเก็บภาษี (ราคาแยกภาษี) ก็ได้
ราคารวมภาษี มักจะนิยมใช้กันในธุรกิจแบบ B2C หรือธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้บุคคลทั่วไป เพราะบุคคลทั่วไป มักมองค่าสินค้าและบริการ รวมกันเป็นค่าใช้จ่ายของเขาทั้งหมด ส่วน ราคาแยกภาษี มักนิยมใช้กันในธุรกิจแบบ B2B หรือธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้ภาคธุรกิจด้วยกัน เพราะลูกค้าในภาคธุรกิจจะมองต่างจากบุคคลทั่วไป คือไม่ได้มอง VAT เป็นค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนที่รวมในสินค้า/บริการ เพราะในภาคธุรกิจลูกค้ามักจด VAT และสามารถขอ VAT ซื้อคืนได้
ต้องจ่าย VAT เท่าไร
– ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งให้กับสรรพากร คือ “ภาษีขาย หักด้วย ภาษีซื้อ” หรือก็คือจำนวนที่เราต้องนำส่ง (ภาษีขาย) หักด้วยจำนวนที่เราต้องขอคืนจากสรรพากร (ภาษีซื้อ)
– ถ้า ภาษีขาย > ภาษีซื้อ ให้คุณนำส่งภาษีให้สรรพากร เท่าส่วนต่างระหว่างภาษีขาย กับภาษีซื้อ
– แต่ถ้า ภาษีซื้อ > ภาษีขาย คุณสามารถขอคืนส่วนต่างระหว่างภาษีขาย กับภาษีซื้อได้ (ขอคืน) หรือจะนำภาษีที่สามารถขอคืนนี้ไปใช้ได้ในเดือนถัดไปก็ได้ (ไม่ขอคืน)
วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% ในโปรแกรม Microsoft Excel
วิธีการคำนวณ VAT 7%
อย่างที่เรารู้กันว่าอัตรา VAT คือ 7% การคำนวณVAT นั้นง่ายๆ คือ
VAT = ราคาก่อน VAT x 7%
ราคารวม VAT = ราคาก่อน VAT x 107%
ในบางครั้ง เราอาจรู้แค่ “ราคารวมVAT” ซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่าจริงๆแล้ว “ราคาก่อนVAT” และ “มูลค่าเฉพาะVAT” เป็นเท่าไหร่กันแน่
วิธีถอด VAT
หากเรารู้ราคารวมVAT เราสามารถคำนวณหา “ราคาก่อน VAT” และ “มูลค่าVAT” ได้โดยสูตรการถอด VAT 7% ดังนี้
ถอดหาราคาก่อน VAT
ราคาก่อน VAT = ราคารวม VAT x 100/107
ถอดหาเฉพาะมูลค่า VAT
มูลค่า VAT = ราคารวม VAT x 7/107
เช่น
สมมติให้ราคารวม VAT = 535 บาท
เมื่อแทนค่าสูตรจะได้
ราคาก่อน VAT = 535 x 100/107 = 500 บาท
มูลค่า VAT = 535 x 7/107 = 35 บาท
ทำไมต้องถอดVAT?
คำนวณภาษีซื้อ/ขาย และยอดค่าใช้จ่าย/รายได้ทางภาษี
สำหรับกิจการจดVAT เมื่อมียอดค่าใช้จ่าย/รายได้ที่รวมVAT มาแล้ว จะต้อง
– ถอดหาเฉพาะมูลค่าVAT เพื่อใช้เป็นภาษีซื้อ/ขาย
– ใช้เฉพาะราคาก่อนVATเป็นค่าใช้จ่าย/รายได้ทางภาษี
การคำนวณหัก ณ ที่จ่าย เมื่อมี VAT
จะต้องคำนวณ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากยอดก่อน VAT เท่านั้น
เช่น สมมติราคารวม VAT = 535 → ถอดได้ ราคาก่อน VAT = 500 → ถ้าต้องหัก ณ ที่จ่าย 3% จะคิดจาก 500×3%=15บาท
ขอบคุณข้อมูล https://peakaccount.com/ และ https://www.accountingcenter.co/