นักวิทยาศาสตร์ได้จัดจำแนกหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตจากใหญ่สุดไปหาย่อย
ดังนี้ อาณาจักร (kingdom) ไฟลัม (phylum) หรือดิวิชัน (division) คลาส (Class) ออเดอร์ (order) แฟมิลี (Family) จีนัส (genus) สปีชีส์ (species) การจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตจะจัดเป็นลำดับขั้นของสิ่งมีชีวิตแต่ละขั้น (taxon) และจะมีชื่อเรียกกำกับขั้นสูงสุดของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ อาณาจักรรองลงมาเป็นไฟลัม (สำหรับพืชจะใช้ดิวิชัน) ในไฟลัมหนึ่ง ๆ แบ่งเป็นหลายคลาส แต่ละคลาสแบ่งออกเป็นออเดอร์ ในแต่ลออเดอร์ยังประกอบด้วยแฟมิลี แฟมิลีหนึ่ง ๆ มีหลายจีนส และในแต่ละจีนัสก็มีหลายสปีชีส์ ถ้าแต่ละขั้นของสิ่งมีชีวิตเป็นหมู่ใหญ่มากอาจจะแบ่งเป็นซูเปอร์ (super) หรือ (sub) ย่อยลงไปได้อีกตามความเหมาะสม
ภาพที่ 4 การจัดลำดับหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตในแต่ละระดับ
ที่มา: Reece & et al (2017)
สิ่งมีชีวิตในโลกนี้ มีมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการ จัดแบ่งหมวดหมู่เพื่อความสะดวกในการศึกษา และการนำมาใช้ประโยชน์ วิชาที่ว่าด้วยการจัดแบ่งหมวด หมู่ของสิ่งมีชีวิต เรียกว่า อนุกรมวิธาน (Taxonomy) นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่ง วิชาอนุกรมวิธาน คือ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) ชาวสวีเดน
การจัดลำดับหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต (Taxonomic category) หมวดหมู่ที่ใหญ่ที่สุด คือ อาณาจักร (Kingdom) สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในอาณาจักรเดียวกันจะมีลักษณะสำคัญบางอย่างเท่านั้นที่เหมือนกัน ซึ่งในแต่ละอาณาจักร จะแบ่งย่อยออกเป็นหลายหมวด และแบ่งย่อยลงไปเรื่อยๆ จนถึงหน่วยที่เล็กที่สุด คือ ชนิด (Species) โดยสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในชนิดเดียวกันจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันในด้านต่างๆ มากที่สุด
1. การจัดลำดับหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต เรียงลำดับจากหมวดหมู่ใหญ่ไปจนถึงหมวดหมู่ย่อย ดังนี้
อาณาจักร (Kingdom)
หมวด (Division) หรือไฟลัม (Phylum)
ชั้น (Class)
อันดับ (Order)
วงศ์ (Family)
สกุล (Genus)
ชนิด (Species)
2. หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อในทางวิทยาศาสตร์
-ใช้ชื่อ ภาษาละติน เสมอ เพราะภาษาละตินเป็นภาษาที่ไม่มีการใช้เป็นภาษาพูดแล้ว โอกาสที่ความหมายจะเพี้ยนไปเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ จึงมีน้อย
-ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของพืชและสัตว์จะเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน
-ชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชและสัตว์แต่ละหมวดหมู่จะมีชื่อที่ถูกต้องที่สุดเพียงชื่อเดียว
-ชื่อหมวดหมู่ในลำดับขั้น Family ลงไป ต้องมีตัวอย่างต้นแบบของสิ่งมีชีวิตนั้นประกอบการพิจารณา เช่น ชื่อ Family ในพืช จะลงท้ายด้วย aceae แต่ในสัตว์ จะลงท้ายด้วย idae
-ชื่อในลำดับขั้น Genus จะใช้ตัวอักษรตัวใหญ่นำหน้า และตามด้วยอักษรตัวเล็ก
-ชื่อในลำดับขั้น Species จะประกอบด้วย 2 คำ โดยคำแรกจะดึงเอาชื่อ Genus มา แล้วคำที่สองจึงเป็นชื่อระบุชนิด หรือเรียกว่า Specific epithet ซึ่งจะขึ้นต้นด้วยอักษรตัวเล็ก
-ชื่อในลำดับขั้น Species จะเขียนตัวเอน หรือ ขีดเส้นใต้เสมอ
แหล่งที่มา
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
สุเทพ ดุษฎีวณิชยา. (2546). คู่มือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ชีววิทยา. กรุงเทพฯ: จิรรัชการพิมพ์.
Campbell, Neil A. & Reece, Jane B. (2002). Biology. 6th ed. San Fancisco: Pearson Education.
Reece, Jane B. Urry, Lisa A. Cain, Michael L. Wasserman,Steven A. & Minorsky, Peter V. (2017).Campbell Biology. 11th ed. New York: Pearson Education.