เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล และต้องตรวจระดับไขมันในเลือด ก็มีข้อสงสัยกับคำหนึ่งในเอกสารใบตรวจ ซึ่งเป็นคำว่า Lipid Profile ก็เลยสะกิดใจเกี่ยวกับคำว่า Lipid ขึ้นมาเล็กน้อย เพราะเหมือนเคยได้ยินในสมัยเรียนมัธยมปลาย แต่ก็จำได้
แบบเลือนลาง ก็เลยไปหาข้อมูลเกี่ยวกับคำนี้มาจนได้ และในโอกาสหน้าจะหาข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของการตรวจการตรวจระดับไขมันในเลือด หรือการตรวจไขมันในเลือด (Lipid Profile หรือ Lipid Panel) โดยละเอียดมาให้อ่านกัน ส่วนบทความนี้เรามารู้จักข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ “ลิพิด (Lipid)” กันก่อน
ภาพ ลิพิด (Lipid)
ที่มา ดัดแปลงจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Common_lipids_lmaps.png , Eoin Fahy
ก่อนอื่นต้องแนะนำให้รู้จักกับคำว่า “สารชีวโมเลกุล” กันก่อน สารชีวโมเลกุล (biomolecules) ก็คือ สารประกอบที่ทำหน้าที่ 2 อย่างในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต คือ เป็นโครงสร้างและสารทำหน้าที่ของเซลล์ เป็นสารที่เราพบได้ในสิ่งมีชีวิตทั่ว ๆ ไป เช่น น้ำ, ไขมัน, เกลือแร่, กรดไขมัน, โปรตีน, เอนไซม์ และ คาร์โบไฮเดรต เป็นต้น (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารชีวโมเลกุล)
ซึ่งที่ต้องแนะนำก็เพราะว่า ลิพิด ก็คือสารชีวโมเลกุลชนิดหนึ่งนั่นเอง มีอยู่หลายชนิด ดังนี้
กลุ่มที่ประกอบด้วยกรดไขมันและแอลกอฮอล์ ไขมัน (fat) , น้ำมัน (oil), และ ไข (wax) จัดอยู่ในกลุ่มลิพิดที่มีโครงสร้าง ลิพิดเชิงเดี่ยว (simple lipid) ที่ โดยปกติที่อุณหภูมิห้อง ไขมันจะเป็นของแข็งส่วนน้ำมันจะเป็นของเหลว ส่วนไขเป็นสารประกอบด้วยกรดไขมันโมเลกุลใหญ่กับแอลกอฮอล์ ไม่ละลายน้ำที่พบมากเป็นส่วนใหญ่ก็คือบริเวณตามผิวหนังใบไม้ ผลไม้บางชนิด และปีกของแมลงบางชนิด
ส่วนลิพิดกลุ่มที่มีสารอื่นประกอบด้วย เช่น ฟอสโฟลิพิด (phospholipid),ไกลโคลิพิด (glycolipid), ลิโพโปรตีน (lipoprotein) จัดอยู่ในกลุ่มลิพิดที่มีโครงสร้าง ลิพิดเชิงซ้อน หรือลิพิดเชิงประกอบ (compound lipid)
ส่วนลิพิดที่มีโครงสร้างแตกต่างจากลิพิดทั่วไป เช่น สเตรอยด์ (steroid) , พวกนี้จัดอยู่ในกลุ่มลิพิดที่มีโครงสร้าง อนุพันธ์ลิพิด (derived lipid) เป็นลิพิดที่ได้มาจากลิพิด 2 ชนิดแรก มีสมบัติคล้ายลิพิดคือ ละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์
ลิพิดมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ มีธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน เป็นองค์ประกอบหลัก และอาจมีไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ประกอบอยู่ด้วย มีคุณลักษณะเฉพาะตัวคือไม่ชอบน้ำ (hydrophobic) เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ไม่เป็นขั้ว (น้ำเป็นโมเลกุลที่มีขั้ว) ดังนั้น ลิพิดจึงเป็นสารชีวโมเลกุลที่ไม่ละลายในน้ำ (water-insoluble) แต่ละลายได้ในสารอินทรีย์ที่ไม่มีขั้ว ลิพิดบางกลุ่มมีทั้งโครงสร้างที่แสดงการมีขั้วด้วย ซึ่งเป็นกลุมที่มีความชอบน้ำดังนั้นอาจเรียกกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่แสดงคุณสมบัติทั้ง 2 อย่าง คือทั้งชอบน้ำและไม่ชอบน้ำอยู่ในโมเลกุลเดียวกัน
หน้าที่สำคัญของลิพิดภายในร่างกายของมนุษย์ก็คือ เป็นสารที่ใช้ในการสะสมพลังงานในร่างกาย และเป็นแหล่งพลังงานสำรองของร่างกาย ได้แก่ ไตรเอซิลกลีเซอรอล (triacylglycerol) ซึ่งประกอบไปด้วย กรดไขมัน (fatty acid) และ กลีเซอรอล (glycerol) อีกส่วนที่พบในเนื้อเยื่อสมองและระบบประสาท บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ ได้แก่ ฟอสโฟลิพิด (phospholipid) สฟิงโกลิพิด (sphingolipid) และ คอเลสเตอรอล (cholesterol) เป็นต้น ซึ่งเปรียบได้ว่าเป็นเหมือนนวมป้องกันอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ส่วนหน้าที่สำคัญของลิพิดภายในพืชก็คือ เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์แบคทีเรียและพืชชั้นสูง
ซึ่งอาจสรุปได้ว่า ลิพิด ถือเป็นสิ่งสำคัญหลายด้านในร่างกายของเรา โดยเฉพาะเป็นแหล่งพลังงานสะสมเมื่อร่างกายเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร อีกทั้งยังป้องกันความร้อนภายใน เป็นโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์ เป็นส่วนประกอบของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงเป็นสารตั้งต้นของวิตามินและฮอร์โมนหลายชนิด และยังเกี่ยวข้องกับการอักเสบและการแข็งตัวของเลือดอีกด้วย
ในโอกาสหน้า ผู้เขียนจะหาข้อมูลตามเกริ่นไว้เกี่ยวกับ การตรวจไขมันในเลือด (Lipid Profile) โปรดติดตาม
แหล่งที่มา
ดร.อนุสรณ์ เชิดทอง. ลิพิดและกรดไขมัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562. จาก https://ag2.kku.ac.th/eLearning/137748/Doc%5CChapter%204%20Lipid%20and%20fatty%20acid.pdf
การตรวจไขมันในเลือด (Lipid Profile : Cholesterol, Triglyceride, HDL, LDL). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562. จาก https://medthai.com/การตรวจไขมันในเลือด/
หน้าที่และความสำคัญของลิปิดคืออะไร? ( Lipid ). (2562, 15 มีนาคม). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562. จาก https://amprohealth.com/nutrition/lipid/
LIPIDS. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562. จาก http://www.mwit.ac.th/~t2040116/document/Lipid%20[Compatibility%20Mode].pdf
ลิพิด (Lipids). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562. จาก http://chem.flas.kps.ku.ac.th/SLIDE/SLIDE-01403222-54-ch17-lipid.pdf
รศ. อินทิรา หาญพงษ์พันธ์ และผศ. ดร. บัญชา พูลโภคา. สารชีวโมเลกุล (Biomolecules). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562. จาก http://www.chemistry.sc.chula.ac.th/Chem_Tutor/biomolecules.pdf
สารชีวโมเลกุล (Biomolecules). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562. จาก http://www.nakhamwit.ac.th/pingpong_web/BioMolecular.htm
ณปภัช พิมพ์ดี.สารชีวโมเลกุล (biomolecule). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562. จาก https://www.scimath.org/lesson-chemistry/item/7094-biomolecule