ในช่วงที่โลกของเรามีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เราควรเตรียมความพร้อมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ปกติแล้วร่างกายของคนเราได้รับสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เข้าสู่ร่างกายอยู่เป็นประจำทุกวัน อาทิ เแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา สารเคมี ฝุ่นละอองที่เจือปนอยู่ในอากาศ เป็นต้น เมื่อสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายโดยระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง ระบบหมุนเวียนโลหิต หรือระบบย่อยอาหารก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและโรคภัยต่างๆ ได้
ร่างกายของเรามี “ระบบภูมิคุ้มกัน” ที่เป็นปราการด่านแรกของร่างกายเปรียบเสมือนกองทัพทหารที่คอยคุ้มกันและต่อต้านเชื้อโรคที่จะเข้ามารุกราน โดยมีเซลล์ที่ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์คือ “เซลล์เม็ดเลือดขาว” ที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดและตามอวัยวะต่างๆ ช่วยปกป้องและต่อสู้กับเชื้อโรค
1.วิตามินเอ
วิตามินเอ (vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน มีบทบาทสำคัญต่อการมองเห็นในฐานะที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของโรดอพซิน (rhodopsin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ดูดซับแสงในตัวรับของจอประสาทตา สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ และช่วยบำรุงรักษาเซลล์ชนิดเยื่อบุเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร เป็นต้น
ในปี ค.ศ. 1920 วิตามินเอได้รับการขนานนามว่าเป็น วิตามินต่อต้านการติดเชื้อ “the anti-infective vitamin” โดยวิตามินเอความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในบทบาทของ
การควบคุมการตอบสนองของเซลล์บี (B-cell) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ
วิตามินเอพบได้ในตับ น้ำมันตับปลา ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม นอกจากนี้ ยังพบได้ในผักใบเขียวและผักสีเหลืองและสีส้มที่มีเบต้าแคโรทีน ซึ่งร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ เช่น บร็อคโคลี่ ฟักทอง และแครอท
2.วิตามินบี
วิตามินบีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง B6, B9 และ B12 เป็นหน่วยสนับสนุนการตอบสนองแรกของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อก่อโรค โดยวิตามินบีจะช่วยสนับสนุนการผลิตและกิจกรรมของเซลล์นักฆ่า (natural killer cell) ของร่างกาย โดยเซลล์นักฆ่าจะทำงานโดยการที่ทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อเปลี่ยนแปลงรูปร่างและเกิดการแตกหักของสายดีเอ็นเอ” ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า apoptosis
แหล่งสารอาหารของวิตามิบี 6 พบได้ในธัญพืชพืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว ผลไม้ ถั่ว ปลา ไก่และเนื้อสัตว์ สำหรับวิตามินบี 9 (หรือโฟเลต) จะพบมากในผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว ถั่วและเมล็ดพืช และวิตามินบี 12 (cyanocobalamin) จะพบได้ในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ นมและในนมถั่วเหลืองเสริม
3.วิตามินซีและอี
เมื่อร่างกายของคุณต่อสู้กับการติดเชื้อ จะเกิดภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidation stress) นำไปสู่การผลิตสารอนุมูลอิสระ (free radicals) ที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อและก่อให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงได้ ซึ่งวิตามินซีและวิตามินอีช่วยปกป้องเซลล์จากภาวะดังกล่าว
วิตามินซียังช่วยสนับสนุนการผลิตเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (neutrophils) เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocytes) และ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดฟาโกไซต์ (phagocytes) โดยแหล่งของวิตามินซีที่ดี ได้แก่ ส้ม มะนาว เบอร์รี่ กีวี บรอกโคลี มะเขือเทศและพริก ในขณะที่สามารถพบวิตามินอีได้ในถั่ว ผักใบเขียว และน้ำมันพืช
4.โอเมก้า 3 (Omega 3)
โอเมก้า 3 (Omega 3) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นชนิดหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวในกระบวนการ Phagocytosis (กระบวนการที่เม็ดเลือดขาวทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมโดยการใช้เยื่อหุ้มเซลล์โอบล้อมเชื้อโรคไว้จนเชื้อโรคนั้นถูกทำลาย) และช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากความเครียดของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้ การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า3 เป็นประจำก็จะสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ โดยปริมาณโอเมก้า 3 ที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน คือ 500 – 1,500 มิลลิกรัม
แหล่งอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง ได้แก่ ปลาและอาหารทะเลชนิดต่างๆ น้ำมันปลา ถั่วและเมล็ดพืช อัลมอนด์ น้ำมันพืช เป็นต้น
5.เอลเดอร์เบอร์รี (Elderberry)
เอลเดอร์เบอร์รีช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และB (Influenza A and B) ได้ สารสำคัญในเอลเดอร์เบอร์รีกลุ่ม Cyanidin-3-Sambubioside (Anthocyanins) สามารถไปจับกับไกลโคโปรตีน Hemagglutinin Protein บนผิวไวรัส ส่งผลยับยั้งการเกาะติดของเชื้อไวรัสกับเซลล์ในร่างกายและทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ ระบบภูมิคุ้มกันจึงกำจัดเชื้อไวรัสได้โดยไม่ก่อให้เกิดอาการของโรคไข้หวัด และพบว่าสารสกัดจากผลเอลเดอร์เบอร์รียังสามารถเพิ่มปริมาณของสาร Cytokines ที่ใช้สื่อสารระหว่างเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน จึงช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพในการป้องกันและทำลาย Antigen เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสาร Pectic Polysaccharide ในเอลเดอร์เบอร์รีสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันโดยการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดมาโครฟาด (Macrophage) อีกด้วย
6.เบต้า-กลูแคน (Beta-Glucan)
เบต้า-กลูแคน เป็นหนึ่งในคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญสำหรับระบบภูมิคุ้มกัน โดยเบต้ากลูแคนจะเข้าไปทำให้เม็ดเลือดขาว มีการขนส่ง Cytokines (สารที่หลั่งจากเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกันในภาวะที่ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแปลกปลอมหรือตอบสนองต่อภาวะการอักเสบ) มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การสื่อสารของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคได้มากขึ้น โดยปริมาณเบต้า-กลูแคนสำหรับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่แนะนำคือ 100-500 มิลลิกรัมต่อวัน
แหล่งอาหารที่มีเบต้า-กลูแคนสูง ได้แก่ ยีสต์ เห็ด (เห็ดหลินจือ เห็ดชิตาเกะ และเห็ดไมตาเกะ) ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ต
7.วิตามินดี
นอกเหนือจากบทบาทของการเสริมสร้างแคลเซียมและสภาวะสมดุลของกระดูก วิตามินดียังมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีการค้นพบ ตัวรับวิตามินดี (Vitamin D Receptor)บนเซลล์ T (T cell) เซลล์บี (B cell) และ Antigen presenting cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่หน้าที่ทำลายเชื้อก่อโรคแม้ว่ารังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากดวงอาทิตย์จะช่วยผลิตวิตามินดีในผิวหนังซึ่งเป็นแหล่งวิตามินดีธรรมชาติที่ดีที่สุด แต่แหล่งอาหารจำพวกไข่ ปลา และนมบางชนิด อาจช่วยเสริมด้วยวิตามินดีได้ด้วย
8.เหล็ก, สังกะสี, ซีลีเนียม
ร่างกายต้องการเหล็กสังกะสีและซีลีเนียม สำหรับการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ภูมิคุ้มกันในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยธาตุเหล็กช่วยฆ่าเชื้อโรคโดยการเพิ่มจำนวนของสารอนุมูลอิสระที่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ยังควบคุมปฏิกิริยาของเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับเซลล์ภูมิคุ้มกันในการรับรู้และกำหนดเป้าหมายเชื้อโรค ในขณะที่สังกะสีช่วยรักษาความสมบูรณ์ของผิวหนังและเยื่อเมือก โดยสังกะสีและซีลีเนียมยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยดูดซับความเสียหายที่เกิดจากภาวะความเครียดออกซิเดชัน โดยแหล่งอาหารที่พบธาตุเหล็กได้แก่ เนื้อไก่ ปลา พืชตระกูลถั่ว และธัญพืช พบสังกะสีได้ในหอยนางรมและอาหารทะเลอื่น ๆ ถั่วแห้ง (โดยเฉพาะถั่วบราซิล) ในขณะที่ซีเรียล เนื้อสัตว์ และเห็ดเป็นแหล่งอาหารที่ดีของซีลีเนียม
ขอบคุณข้อมูล https://www.scimath.org/ และ https://www.vistra.co.th/