สาเหตุน้ำท่วม
น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากฝนที่ตกในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำมีปริมาณมาก และตกติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเกิดน้ำไหลบ่าเหนือผิวดิน ลงสู่ร่องน้ำลำธาร และในแม่น้ำมากกว่าปกติ ซึ่งในขณะที่น้ำจำนวนมากไหลไปตามร่องน้ำ ลำธาร และแม่น้ำนั้น หากลำน้ำตอนใด ไม่สามารถรับปริมาณน้ำทั้งหมดให้ไหลอยู่เฉพาะภายในตัวลำน้ำได้ ก็จะทำให้น้ำมีระดับท้นสูงกว่าตลิ่ง แล้วไหลล้นฝั่งบ่าไปท่วมพื้นที่สองฝั่งลำน้ำ หรืออาจไหลไปท่วมขังตามที่ลุ่มต่ำไกลออกไปเป็นบริเวณกว้างด้วย นอกจากนั้นตามพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่ในเขตชุมชน ซึ่งไม่มีระบบการระบายน้ำที่สมบูรณ์ เมื่อเกิดฝนตกหนักเป็นเวลานานๆ ในแต่ละครั้ง มักเป็นปัญหา ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนพื้นที่ แล้วทำความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก และทรัพย์สินต่างๆ ได้เสมอเช่นกัน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสภาพท้องที่และ ความวิปริตผันแปรของธรรมชาติ แต่ในบางท้องที่ การกระทำของมนุษย์ก็มี ส่วนสำคัญในการทำให้ภาวะการเกิดอุทกภัยนั้นมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังต่อไปนี้
1. น้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนัก
2. ลักษณะและส่วนประกอบของพื้นที่ลุ่มน้ำ
2.1 รูปร่างของพื้นที่ลุ่มน้ำ
2.2 สภาพภูมิประเทศของพื้นที่ลุ่มน้ำ
2.3 ชนิดของดิน สภาพพืชที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่และความเสื่อมโทรมของพื้นที่ลุ่มน้ำ
3. น้ำทะเลหนุน
4. การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม
4.1 การขยายตัวของเขตชุมชนและการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
4.2 แผ่นดินทรุด
การป้องกัน
ติดตามข่าวสารจากแหล่งข่าวข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาหรือข่าวจากโทรทัศน์ พยากรณ์อากาศ หรือการศึกษาหาข้อมูลการรับมือพายุในฤดูร้อนและน้ำท่วมในฤดูฝน และเตรียมความพร้อมรับมือในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยต่องานป้องกัน และบรรเทาน้ำท่วม เช่นเดียวกับงานพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอื่น โครงการป้องกัน และบรรเทาน้ำท่วม ตามพระราชดำริ ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ในคราวเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมราษฎรบ้านปาดังยอ ตำบลมูโนะ อำเภอ สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยความทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ในฤดูมรสุมน้ำในแม่น้ำโกลก ซึ่งกั้นแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียนั้น มีระดับสูงล้นตลิ่ง บ่าไปท่วมไร่นาของราษฎรเสียหายทุกปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างคลองสำหรับผันและแบ่งน้ำ จากแม่น้ำโกลก ในเวลาน้ำไหลหลากมามากออกสู่ทะเลอีกทางหนึ่ง จึงช่วยบรรเทาอุทกภัย ในเขตพื้นที่ไร่นาได้เป็นบริเวณพื้นที่กว้าง หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับงานป้องกัน และบรรเทาน้ำท่วมแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาดำเนินการเป็นลำดับตลอดมา เป็นต้นว่า ในการพิจารณาวางโครงการอ่างเก็บน้ำ เพื่อการเกษตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ อย่างสอดคล้องกับหลักวิชาการว่า สมควรพิจารณากำหนดขนาดของอ่างเก็บน้ำ ให้มีความจุมากเท่าที่สภาพภูมิประเทศ และแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถอำนวยให้ดำเนินการได้ และคุ้มกับค่าลงทุน เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์แก่พื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้นแล้ว อ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ ย่อมช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่ด้านล่างได้ดีอีกด้วย นอกจากนั้นเมื่อเกิดน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลหลายคราวที่ผ่านมา ก็ทรงห่วงใย และพระราชทานแนวพระราชดำริ ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาดำเนินการได้อย่างเหมาะสม