น้ำท่วม (flood) หมายถึง ภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำพื้นผิวมีปริมาณเกินกว่าทีร่องน้ำจะรองรับได้ ทำให้น้ำเอ่อล้นออกจากร่องน้ำ สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ โดยภัยพิบัติน้ำท่วมนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และส่งผลต่อแตกต่างกัน ได้แก่ 
1) น้ำท่วมจาก พายุฝนฟ้าคะนอง (thunder storm) ทำให้เกิดน้ำหลากจากต้นน้ำลงมาอย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่า น้ำท่วมฉับพลัน (flash flood) แต่จะท่วมเพียง 2-3 ชั่วโมง และจะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งน้ำท่วมรูปแบบนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตโดยส่วนใหญ่
2) น้ำท่วมจากฝนตกตลอดทั้งวัน ทำให้เกิด น้ำท่วมขังในท้องถิ่น (local flood) แต่จะท่วมนานเป็นสัปดาห์ และลดลงอย่างช้าๆ
3) น้ำท่วมจาก คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) เกิดจากพายุในทะเลและหอบมวลน้ำขึ้นมาไหลหลากบนพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง
4) สาเหตุอื่นๆ เช่น 4.1) การถล่มของก้อนน้ำแข็งและปิดกั้นธารน้ำ (glacier-jam flood) ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง 4.2) การพังทลายของเศษตะกอนที่เคยกั้นน้ำด้านบนเอาไว้ หรือ 4.3) การก่อสร้างขวางธารน้ำไหล เป็นต้น
น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากฝนที่ตกในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำมีปริมาณมาก และตกติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเกิดน้ำไหลบ่าเหนือผิวดิน ลงสู่ร่องน้ำลำธาร และในแม่น้ำมากกว่าปกติ ซึ่งในขณะที่น้ำจำนวนมากไหลไปตามร่องน้ำ ลำธาร และแม่น้ำนั้น หากลำน้ำตอนใด ไม่สามารถรับปริมาณน้ำทั้งหมดให้ไหลอยู่เฉพาะภายในตัวลำน้ำได้ ก็จะทำให้น้ำมีระดับท้นสูงกว่าตลิ่ง แล้วไหลล้นฝั่งบ่าไปท่วมพื้นที่สองฝั่งลำน้ำ หรืออาจไหลไปท่วมขังตามที่ลุ่มต่ำไกลออกไปเป็นบริเวณกว้างด้วย นอกจากนั้นตามพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่ในเขตชุมชน ซึ่งไม่มีระบบการระบายน้ำที่สมบูรณ์ เมื่อเกิดฝนตกหนักเป็นเวลานานๆ ในแต่ละครั้ง มักเป็นปัญหา ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนพื้นที่ แล้วทำความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก และทรัพย์สินต่างๆ ได้เสมอเช่นกัน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสภาพท้องที่และ ความวิปริตผันแปรของธรรมชาติ แต่ในบางท้องที่ การกระทำของมนุษย์ก็มี ส่วนสำคัญในการทำให้ภาวะการเกิดอุทกภัยนั้นมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังต่อไปนี้
1. น้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนัก
2. ลักษณะและส่วนประกอบของพื้นที่ลุ่มน้ำ
2.1 รูปร่างของพื้นที่ลุ่มน้ำ
2.2 สภาพภูมิประเทศของพื้นที่ลุ่มน้ำ
2.3 ชนิดของดิน สภาพพืชที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่และความเสื่อมโทรมของพื้นที่ลุ่มน้ำ
3. น้ำทะเลหนุน
4. การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม
4.1 การขยายตัวของเขตชุมชนและการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
4.2 แผ่นดินทรุด
การบรรเทาภัยพิบัติน้ำท่วม (Flood Mitigation)
การบรรเทาภัยพิบัติน้ำท่วม (Flood Mitigation) หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเกิดน้ำท่วม เพื่อให้พื้นที่ใดๆ สามารถรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 1) การสร้างสิ่งป้องกันทางกายภาพ (physical barrier) เช่น การสร้าง คันดินเทียม (artificial levee) เพื่อไม่ให้น้ำเอ่อล้นร่องน้ำได้ง่าย การสร้าง เขื่อน (dam) เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการน้ำ แต่ทั้ง 2 วิธีนี้ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูง อีกทั้งการสร้างคันดินเทียมนั้นเปรียบเสมือนการทำให้ร่องน้ำกว้างขึ้น ซึ่งจากหลักการทางอุทกศาสตร์ หากอัตราน้ำไหลในธารน้ำคงที่ (Q) เมื่อร่องน้ำกว้างขึ้น (A) น้ำในร่องน้ำจะไหลช้าลง (V) ตะกอนจึงตกทับถมมากกว่าปกติ ทำให้ร่องน้ำตื้นเขินเร็วขึ้น ซึ่งการสร้างเขื่อนก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
การบรรเทาภัยพิบัติน้ำท่วมด้วยสิ่งป้องกันทางกายภาพ
2) การขุดลอกร่องน้ำ (channelization) เช่น การกำจัดขยะ การขุดลอกเศษตะกอนท้องน้ำให้ธารน้ำลึกและกว้างขึ้น แต่อาจส่งผลต่อระบบนิเวศในร่องน้ำและอาจทำให้ร่องน้ำเสียสมดุล เกิดการพังของตลิ่งได้ง่าย 3) การจัดพื้นที่ (zoning and regulation) จัดทำแผนที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อกำหนดพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง จากนั้นจึงจัดโซนเพื่อกันพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดว่าพื้นที่ซึ่งมีโอกาสเกิดน้ำท่วมในอีก 100 ปีข้างหน้า สามารถสร้างอาคารหรือที่พักอาศัยได้ แต่ต้องออกแบบตามกฏหมายที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อรองรับภัยพิบัติน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ ในขณะที่พื้นที่ซึ่งมีโอกาสเกิดน้ำท่วมภายใน 20 ปี จะไม่อนุญาตให้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างโดยเด็ดขาด ซึ่งในสภาวะปกติจะใช้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักหากเกิดน้ำท่วม เช่น เป็นสนามหญ้าเพื่อการพักผ่อนของชุมชน ลานกีฬาชั่วคราว เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการกันพื้นที่ส่วนที่เป็น ทะเลสาบรูปแอก (oxbow lake) เพื่อใช้กักเก็บน้ำเมื่อน้ำไหลมามากกว่าปกติ 4) การติดตั้งระบบเตือนภัย (warning system) เช่น การให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติน้ำท่วมแก่ชุมชน ติดตั้งสถานีตรวจวัดระดับน้ำ (gauging station) หรือระบบตรวจวัดปริมาณน้ำฝนที่สะดวกในการใช้งานและบำรุงรักษาง่ายแก่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้ในแต่ละพื้นที่สามารถเตือนภัยได้ด้วยตัวเอง