ปัจจุบันเครื่องช่วยหายใจมีทั้งหมด 2 ชนิด คือ
- เครื่องช่วยหายใจชนิดธรรมดา (Conventional Ventilator) มีการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากการใช้งานไม่ยุ่งยาก เคลื่อนย้ายสะดวก ทั้งยังใช้ได้กับผู้ป่วยทุกวัย โดยรูปแบบการทำงานของเครื่องสอดคล้องกับปอดของคนทั่วไป ระดับปริมาตรอากาศที่เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยจึงใกล้เคียงกับการหายใจของคนปกติ ทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ
- เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง (High Frequency Ventilator) มักใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจลำบาก เนื่องจากปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ เครื่องช่วยหายใจชนิดนี้มีการสูบฉีดออกซิเจนค่อนข้างถี่ ปริมาตรของอากาศที่เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับออกซิเจนของปอดในขณะนั้น
วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องช่วยหายใจ
การใช้เครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้เอง หรือการหายใจยังไม่เป็นปกติ มีวัตถุประสงค์ดังนี้
- ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้อย่างเหมาะสม
- ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจเป็นปกติ ในกรณีที่ได้รับยาสลบจากการผ่าตัด
- ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจเป็นปกติ ในกรณีที่มีอาการป่วยรุนแรง หรืออุบัติเหตุอันส่งผลต่อการหายใจ
ประโยชน์ของเครื่องช่วยหายใจ
เครื่องช่วยหายใจเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่มีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้อย่างปกติ โดยมีข้อดีหลัก ๆ ดังนี้
- ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีระบบทางเดินหายใจผิดปกติหายใจได้ดีขึ้น เนื่องจากรูปแบบการทำงานของเครื่องใกล้เคียงกับการหายใจของคนปกติ
- ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาหายใจได้เป็นปกติ
- ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนเพียงพอ
- ช่วยส่งเสริมการรักษาและการฟื้นตัวของผู้ป่วย
ขอบคุณข้อมูล : https://www.pobpad.com/