1. Motor
ส่วนประกอบแรกคือ มอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่ในการแปลงพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานจลน์เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน เมื่อทำการเปรียบเทียบการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์จะพบว่ามอเตอร์ไฟฟ้านั้นมีความเงียบมากกว่าเครื่องยนต์ในระหว่างการทำงาน อีกทั้งในเรื่องของการสั่นสะเทือนก็มีระดับที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ จึงทำให้ผู้ที่มาขับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกมักจะมีความแปลกใจกับเสียงที่เงียบมากในระหว่างการขับขี่ นอกจากนี้ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ามีการเบรคหรือลงจากเขา มอเตอร์ไฟฟ้ายังมีความสามารถในการแปลงพลังงานจลน์กลับเป็นไปเป็นพลังงานไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่ เราเรียกระบบการทำงานแบบนี้ว่า “Regenerative Braking System” ซึ่งจะทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีความประหยัดพลังงานขึ้นไปอีก
2. Reducer
Reducer ทำหน้าที่เสมือนเป็นระบบชุดเกียร์ในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป โดยจะทำการส่งผ่านกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าไปสู่ระบบเพลาขับเคลื่อนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สาเหตุที่ชื่อว่า Reducer นั้นมาจากรอบการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้านั้นสูงมากกว่ารอบการทำงานของเครื่องยนต์สันดาปภายในนั่นเอง
3. Battery
แบตเตอรี่ทำหน้าที่เสมือนเป็นถังน้ำมันในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป โดยขนาดของแบตเตอรี่ก็จะส่งผลโดยตรงกับระยะทางที่รถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถวิ่งได้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ควรออกแบบขนาดของแบตเตอรี่ให้มีขนาดที่ใหญ่จนเกินไปเพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของตัวรถเนื่องจากขนาดและน้ำหนักของแบตเตอรี่ที่สูง ด้วยเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเราก็อาจได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระยะทางวิ่งได้ไกลขึ้นถึง 800 กม. และมีระยะเวลาในการชาร์จที่สั้นลง เช่น แบตเตอรี่แบบ Solid State เป็นต้น นอกจากนี้ในสภาวะอากาศเย็นมากๆ ประสิทธิภาพในด้านความจุและความเร็วในการชาร์จของแบตเตอรี่จะลดลง ทำให้จำเป็นต้องมี “Battery Heating System” เข้ามาช่วยรักษาอุณหภูมิให้แบตเตอรี่สามารถทำงานได้ในช่วงปกติได้
4. On-board Charger(OBC)
ทำหน้าที่ในการแปลงไฟฟ้ากระแสสลับจากที่ชาร์จระบบ AC เช่น Home Charger หรือสายชาร์จที่แถมมากับตัวรถ ให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) นั่นหมายถึงในกรณีที่เรามีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าผ่านเครื่องชาร์จแบบ DC เช่น EV Station เป็นต้น On-board Charger ก็จะไม่จำเป็นต้องทำงานในกรณีนี้เนื่องจากเครื่องชาร์จได้มีการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงแล้วนั่นเอง
5. Electric Power Control Unit (EPCU)
เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมกำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์ภายในตัวรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด โดยประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ดังนี้
5.1) Inverter: ทำหน้าที่ในการแปลงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ซึ่งเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เพื่อส่งต่อให้กับมอเตอร์ไฟฟ้า อีกทั้งยังควบคุมความเร็วในการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าในขณะที่รถมีอัตราเร่งหรือหน่วงจากผู้ขับขี่
5.2) Low voltage DC-DC Converter (LDC): ทำหน้าที่ในการแปลงความต่างศักย์ที่สูงจากแบตเตอรี่ ให้ลดลงเหลือ 12 Volt เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆภายในตัวรถ
5.3) Vehicle Control Unit (VCU): เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในระบบ EPCU เนื่องจากทำหน้าที่ในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของหน่วยควบคุมส่วนอื่นๆทั้งหมดของตัวรถ อาทิเช่น หน่วยควบคุมของมอเตอร์ไฟฟ้า, ระบบ Regenerative Braking รวมถึงระบบ Power Supply ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ซึ่ง VCU นั้นเปรียบเทียบได้กับ ECU ในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://news.hyundaimotorgroup.com/Article/Understanding-EV-Components
https://theicct.org/sites/default/files/publications/EV_cost_2020_2030_20190401.pdf
http://www.thaiauto.or.th/2012/backoffice/file_upload/news/2352561901591.pdf
https://www.thaiauto.or.th/2012/th/services/ev/pdf/ev-Intro.pdf
https://www.ap-machinery.com/motor.html
https://www.nissan.co.th/experience-nissan/Nissan-EV/how-EV-work.html
https://www.n-squared.co.th/