เงินเฟ้อขั้นรุนแรงคืออะไร?
คนส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับเงินเฟ้อดีอยู่แล้ว เงินเฟ้อเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราสามารถดูการเปลี่ยนแปลงระดับราคาหรือเงินเฟ้อได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค
ตัวอย่างกรณีของไทยเช่น ในปี 2535 ดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ประมาณ 50 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 100 นั่นหมายความว่า สินค้าและบริการโดยทั่วไปแพงขึ้นสองเท่าในระยะเวลา 25 ปี (เช่น ราคาก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นจาก 20 บาทเป็น 40 บาท) ขณะที่เงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) ดังเช่นกรณีของเวเนซุเอลานั้น ระดับราคาสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ามาก กล่าวคือ ระดับราคาสินค้าในเวเนซุเอลานั้นเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวโดยใช้เวลาเพียงแค่สองสัปดาห์เศษเท่านั้น
เกิดอะไรขึ้นที่เวเนซุเอลา?
กลับมาที่เวเนซุเอลา ภาวะเงินเฟ้อในเวเนซุเอลานั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศจะพุ่งขึ้นจนเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในปี ค.ศ. 2014 และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเงินเฟ้อขั้นรุนแรงซึ่งดูไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ
นักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ประมาณการว่า ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2015 นั้น อัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาสูงเทียบเท่าอัตราเงินเฟ้อราว 800% ต่อปี (ราคาสินค้าแพงขึ้นแปดเท่าในหนึ่งปี) ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2017 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3,500% ต่อปี ส่วนตัวเลขประมาณการล่าสุดตอนสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น อัตราเงินเฟ้อสูงเกินกว่า 30,000% ต่อปี ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มองโลกในแง่ร้ายกว่านั้นมาก โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งถึง 1,000,000% เมื่อถึงสิ้นปีนี้
ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงส่งผลกระทบต่อประชาชนเวเนซุเอลาอย่างไม่ต้องสงสัย ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงสวนทางกันกับอำนาจการซื้อของผู้คน ค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละเดือนเพียงพอที่จะซื้ออาหารแค่ 1 ใน 10 ของอาหารที่จำเป็นสำหรับคนแค่คนเดียวเท่านั้น ขณะที่ร้านค้าบางแห่งถึงกับเลิกติดป้ายราคาสินค้าเนื่องจากราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขอบคุณ แหล่งข้อมูล https://themomentum.co