เป็นเรื่องปกติในกลุ่มนักกีฬาที่มักจะให้คำนิยามตัวเองว่า “ฟิตหรือไม่ฟิต” ด้วยการดูอัตราการเต้นของหัวใจเป็นหลัก พร้อมกับประโยคบอกเล่าสุดคลาสสิค อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดของแต่ละคนจะเท่ากับ 220 – อายุ เช่น โอ้ มีอายุ 20 ปี เขาจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดเท่ากับ 220 -20 = 200 ดังนั้น โอ้จะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดเท่ากับ 200 ครั้งต่อนาที ดังนั้น ยิ่งอายุมากขึ้น หัวใจก็จะทำงานช้าลงตามไปด้วย และหากหัวใจเต้นเกือบถึงอัตราสูงสุดหรือเทียบเท่า ก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ เนื่องจากหัวใจบีบเลือดไปหล่อเลี้ยงร่ายกายไม่ทันและเกิดอาการช็อคได้
อัตราการเต้นของหัวใจเป็นตัวบ่งบอกความหนักในการออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี ความหนัก-เบาในการออกกำลังกายจะส่งผลต่อร่างกายไม่เหมือนกัน เช่น การออกกำลังกายเบาๆ จะช่วยในเรื่องสุขภาพทั่วไป ในขณะที่การออกกำลังกายที่หนักจะช่วยพัฒนาความสามารถสูงสุดของนักกีฬา เป็นต้น
ระดับความหนักที่ 40-50% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดต่อนาที
เป็นระดับการออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ออกกำลังกายหนักไม่ได้ เหมาะสำหรับผู้สูงวัย
ระดับความหนักที่ 50-60% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดต่อนาที
เป็นการออกกำลังกายเบาๆ ที่ช่วยพัฒนาสุขภาพโดยรวม ช่วยให้การฟื้นฟูร่างกายเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นหรือต้องการออกกำลังกายแบบไม่หนักมาก สามารถทำเป็นประจำได้
ระดับความหนักที่ 60-70% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดต่อนาที
ช่วยพัฒนาความทนทานของร่างกายให้สามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้นานขึ้น ความหนักระดับนี้ร่างกายจะมีอัตราการใช้พลังงานจากไขมันสูงที่สุด ดังนั้นจึงเหมาะกับคนที่ต้องการลดความอ้วน
ระดับความหนักที่ 70-80% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดต่อนาที
ช่วยพัฒนาระบบหายใจและหลอดเลือด และระบบไหลเวียนโลหิต ให้แข็งแรง สามารถทำกิจกรรมหนักได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย สามารถฟื้นตัวได้เร็ว ความหนักในระดับนี้ทำให้ร่างกายใช้พลังงานจากไขมันเป็นหลัก แต่ไม่มากเท่าช่วง 60-70%
ระดับความหนักที่ 80-90% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดต่อนาที
เพิ่มความสามารถในการเล่นกีฬาที่หนักได้นานขึ้น ร่างกายสามารถทนทานต่อกรดแลคติกในกล้ามเนื้อซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้รู้สึกปวดล้าขณะออกกำลังกาย ไม่เหมาะสำหรับผู้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นระดับที่ใช้ฝึกนักกีฬาให้เกิดความทนทานต่อการแข่งขันกีฬา
ระดับความหนักที่ 90-100% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดต่อนาที
เพิ่มความสามารถสูงสุดในการออกกำลังกายและเพิ่มความเร็ว เป็นการออกกำลังกายโดยใช้ระยะเวลาสั้นๆ เต็มกำลัง เช่น การวิ่ง 100 เมตร เป็นต้น ร่างกายจะใช้พลังงานอย่างสุดกำลังต่อการออกกำลังกาย 1 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วและความสามารถสูงสุดในการแข่งขัน
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.nutrilite.co.th