การศึกษาใหม่ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Cell Reports เป็นการศึกษาของศูนย์วิจัย RIKEN Center for Biosystems Dynamics Research ในประเทศญี่ปุ่น โดยทีมวิจัยได้ทำการทดลองในหนู และค้นพบ ยีนคู่หนึ่งที่ควบคุมการนอนหลับในระยะ REM (rapid eye movement) ซึ่งเป็นช่วงของการนอนหลับที่เกี่ยวข้องกับความฝันที่แจ่มชัด (vivid dreaming) และการนอนหลับในระยะ non-REM (Non rapid eye movement) ที่เป็นช่วงการนอนหลับตื้น
การนอนหลับในช่วงเวลากลางคืน ร่างกายจะปรับเข้าสู่กลไกการนอนหลับแบบทั้งในระยะ REM sleep และ non-REM sleep ทั้งนี้การนอนหลับแบบ REM sleep จะช่วยเพิ่มโอกาสในการฝัน และมีแนวโน้มที่จะจดจำความฝันได้มากขึ้น
เมื่อการนอนหลับเข้าสู่ระยะ REM sleep สมองจะเต็มไปด้วยสารสื่อประสาทที่เรียกว่า แอซิติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ความคิด กระบวนการทำงานของความจำ รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการนอนหลับ และสำหรับการศึกษานี้ นักวิจัยสามารถระบุยีน 2 ชนิดคือ Chrm1 และ Chrm3 ซึ่งดูเหมือนว่า ยีนทั้ง 2 ยีนนี้จะเข้ารหัสกับตัวรับแอซิติลโคลีน (acetylcholine receptor) ได้ดี และเพื่อค้นหาว่า ยีนเหล่านี้มีบทบาทในช่วงหลับฝันของเราหรือไม่ ทีมวิจัยจึงได้ใช้เครื่องมือทางพันธุกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนยีนของหนู
การศึกษาค้นพบว่า การลบยีน Chrm1 จะไปลดการนอนหลับในช่วง REM sleep ที่ไม่ต่อเนื่อง (REM sleep fragment) ในขณะที่การลบยีน Chrm3 จะลดความต่อเนื่องของการนอนหลับแบบ non-REM อย่างไรก็ดี เมื่อลบยีนทั้ง 2 ยีน พบว่า แทบจะไม่สามารถตรวจจับการนอนหลับแบบ REM sleep ในหนูทดลองได้เลย หรืออาจกล่าวได้ว่า หนูทดลองไม่มีความฝันนั่นเอง
แม้ว่าการควบคุมการนอนหลับเกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณซึ่งกันและกันของเซลล์ประสาทพิเศษภายในสมอง และแอซิติลโคลีน จะส่งเสริมการนอนหลับแบบ REM sleep แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า กลไกการทำงานของสารสื่อประสาทมีความจำเป็นสำหรับการนอนหลับแบบ REM sleep เนื่องจากความซับซ้อนตั้งแต่วงจรประสาทไปจนถึงระดับโมเลกุล แต่การศึกษาของนักวิจัยทำให้เห็นว่า การลบยีน Chrm1 และ Chrm3 จะไปรบกวนการนอนหลับแบบ REM sleep และชี้ให้เห็นว่า ตัวรับแอซิติลโคลีน ยีน Chrm1 และยีน Chrm3 นั้นมีบทบาทสำคัญต่อการนอนหลับแบบ REM sleep ซึ่งนำไปสู่วิธีการศึกษากลไกของเซลล์และโมเลกุล ตลอดจนทำให้สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงข้อสงสัยถึงการจดจำความฝันที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลได้
แม้การนอนหลับแบบ REM sleep จะช่วยให้สมองจัดการความทรงจำ อารมณ์ และการเรียนรู้ แต่สำหรับหนูที่ไร้ซึ่งความฝันนั้น ดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดการนอนหลับแบบ REM sleep และนี่ยังเป็นข้อสงสัยที่เชื่อมโยงต่อความสามารถในการจดจำความฝันของมนุษย์ อย่างไรก็ดีนักวิจัยยืนยันว่า การที่หนูทดลองไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่ต่อเนื่องหรือขาดการนอนหลับแบบ REM sleep นั่นอาจแสดงให้เห็นว่า ความฝันไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง แต่เป็นเพียงผลพลอยได้จากการทำงานของสมองในช่วงการนอนหลับแบบ REM sleep
แหล่งที่มา
Tom Hale. (2018, August 29). Why You Remember (Or Forget) Your Dreams. Retrieved April 10,2019, From https://www.iflscience.com/brain/why-you-remember-or-forget-your-dreams/