ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) ในประเทศเวเนซุเอลา ส่งผลให้เงินโบลิวาร์แทบจะกลายเป็นเพียงแผ่นกระดาษที่ไร้ค่า และภายหลังจากทางการออกธนบัตรสกุลโบลิวาร์แบบใหม่ ที่มีการตัดจำนวนเลขศูนย์ลง 5 หลักเพื่อแก้ภาวะเงินเฟ้อนั้น เงินสดได้กลายเป็นของหายากในประเทศนี้ ส่งผลให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาวิธีการอันเก่าแก่ในการยังชีพ นั่นคือการเอาข้าวของมาแลกเปลี่ยนกัน
กิลเลอร์โม โอลโม ผู้สื่อข่าวบีบีซีในเวเนซุเอลา ได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดแห่งหนึ่งในเมืองปวยร์โตลาครูซ ซึ่งเป็นเมืองท่าทางภาคตะวันออกของประเทศ และได้พูดคุยกับบรรดาชาวประมงที่นำปลาที่จับได้มาแลกกับข้าวของต่าง ๆ จากชาวบ้าน
- วิกฤตเวเนซุเอลา : ความทุกข์ยากของชาวบ้านในวันที่ไม่มีไฟฟ้า และใช้น้ำจากท่อระบาย
- วิกฤตเวเนซุเอลา : 7 ตารางความทุกข์ยากของประเทศภายใต้การนำของ 2 ประธานาธิบดี
- วิกฤตเวเนซุเอลา: พิษเศรษฐกิจทำประชาชนต้องซื้อเนื้อเน่ากินยังชีพ
- เทียบค่าเงินโบลิวาร์เวเนซุเอลากับสินค้าจำเป็น
นายโบดิส มาร์ติเนซ ชาวประมง เล่าว่า ชาวบ้านนำข้าว แป้ง นม น้ำมัน หรืออะไรก็ตามที่พวกเขามีมาแลกกับปลาที่เขาจับได้ เพราะแถวนี้ไม่มีอะไรขาย
นายมาร์ติเนซ บอกว่า ผู้คนที่นี่เคยแต่ซื้อของด้วยเงินสด แต่เพราะเกิดปัญหาเงินสดขาดแคลน จึงทำให้พวกเขาต้องใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้ากัน พร้อมเล่าว่าครั้งหนึ่ง หลานชายของเขาล้มป่วยและต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และเขาหาซื้อจากร้านขายยาไม่ได้เลย แต่มาได้ยาจากการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ตลาดแห่งนี้
ส่วนนางโยไมรา เฮอร์เรรา เล่าว่า เธอใช้เวลาราว 4 ชม. กว่าจะหาแลกปลาซาร์ดีนมาทำอาหารได้แพ็คหนึ่ง
เธอบอกว่า เงินเวเนซุเอลาอ่อนค่ามากและมีไม่พอที่จะใช้ซื้อของ และว่า “ถ้าคุณเอาข้าวไปแลกอย่างอื่นได้ ก็เท่ากับเอาตัวรอดไปได้อีกวัน”
งานวิจัยที่ทำขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติของเวเนซุเอลาซึ่งพรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมาก ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นถึง 1,300,000% ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือน พ.ย. 2018
จนถึงสิ้นปีที่แล้ว ราคาสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น 2 เท่าโดยเฉลี่ยทุก ๆ 19 วัน ทำให้เป็นเรื่องยากที่ชาวเวเนซุเอลาจะซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นได้
https://www.bbc.com/thai/international-47927397