นพ.คะโตะ อธิบายเกี่ยวกับ “การปรับสภาพสมอง” ว่า เป็นการจงใจเปลี่ยนวิธีการใช้สมองซึ่งเอนเอียงไปทางส่วนใดส่วนหนึ่ง หันมากระตุ้นสมองส่วนอื่นๆ อย่างทั่วถึงกันจนได้สมองที่แข็งแรง ในเมื่อสมองซีกขวาโดยเฉพาะส่วนที่ควบคุมด้านการมองเห็น ด้านความเข้าใจ และด้านการจดจำไม่ค่อยถูกกระตุ้น ไม่มีการใช้งาน ก็จะไร้ประสิทธิภาพจนค่อยๆ เสื่อม ทำให้สมองโดยรวมไม่สมดุล นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ในที่สุด
โดยทางเราขอหยิบยก วิธีปรับความเคยชินของสมอง หัวข้อที่น่าสนใจจากหนังสือ “ปรับสมองไม่ให้เสื่อม” เพื่อเป็นแนวทางให้คุณไปปรับใช้เบื้องต้น ดังนี้
- สั่งอาหารจากภาพ ไม่ต้องดูตัวหนังสือ เป็นการกระตุ้นสมอง “ด้านการมองเห็น” เพราะ ความสามารถในการอ่านตัวหนังสือจะใช้สมองซีกซ้าย และความสามารถในการดูภาพจะใช้สมองซีกขวา ดังนั้นคนที่ดูเมนูอาหารแล้วสั่งจากภาพจะเป็นคนที่พื้นที่สมองด้านนี้แข็งแรง ไม่ว่าดูอะไรก็วิเคราะห์ได้ดีและว่องไว
- แปรงฟันด้วยมือที่ไม่ถนัด ช่วยกระตุ้นสมอง “ด้านความเข้าใจ” เนื่องจากร่างกายซีกขวาควบคุมโดยสมองซีกซ้าย และร่างกายซีกซ้ายควบคุมโดยสมองซีกขวา ดังนั้นการที่เราเปลี่ยนมาใช้งานมือข้างที่ไม่ถนัด ทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สะดวก และพยายามทำความเข้าใจพร้อมปรับตัว เป็นวิธีปรับสมองที่ได้ผลดีที่สุด
- คิดตารางเวลาแบบย้อนหลัง เพราะเรามักจะคุ้นเคยกับการเขียนกำหนดการแบบไปข้างหน้าตามลำดับ แต่ถ้ามองกลับกัน ลองทำกำหนดการแบบถอยหลังดูบ้างก็จะช่วยกระตุ้นสมอง “ด้านการจดจำ” เป็นการปรับวิธีคิดจากเริ่มกี่โมง มาเป็นต้องเสร็จกี่โมงแทน จะเห็นได้ว่าการทำกิจกรรมจะว่องไวและลงตัวอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจากการปรับพฤติกรรมนี้
มาสร้าง “สมองที่แข็งแรง” ที่สมดุลไปทุกส่วน ด้วยการท้าทายกิจวัตรประจำวันของเรา หากคุณรู้สึกว่าใช้สมองเกินพอดีไปบางส่วน ก็เตือนสติตัวเองว่าต้องไม่ละเลยสมองส่วนอื่นๆ ที่ควรถูกใช้งานและถูกกระตุ้นในวันนั้นๆ ด้วย สมองจะได้ใช้งานอย่างทั่วถึง เพียงคุณปรับความเคยชินในชีวิตประจำวัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://sumrej.com/how-to-balance-and-train-your-brain-01-2018/