1. สร้างตารางการเปลี่ยนแปลง
เทคนิคนี้ คือให้เราเขียนลิสต์หรือสิ่งที่เราอยากเปลี่ยน อยากทำ หรืออยากได้ ลงบนกระดาษ ซึ่งอาจจะเป็น 50 ข้อ หรือ 100 ข้อ สมมติเช่น ขี่ม้าเป็น พบปะกับเพื่อนเก่า วิ่งบอสตันมาราธอน ไปเที่ยวอเมริกาใต้ เขียนนิยาย เป็นต้น
จากนั้นให้นำทุกข้อที่เราเขียนมาแบ่งเข้ากล่องแต่ละประเภท คือ
- สิ่งนี้ต้องอาศัยทักษะบางอย่างก่อน
- สิ่งนี้ทำได้เลย
- สิ่งนี้ต้องรอเวลา
ยกตัวอย่างเช่น ข้อ “เขียนนิยาย” จัดอยู่ในกลุ่มที่หนึ่งคือ ต้องไปศึกษาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ก่อน หรือต้องอ่านนิยายให้ได้เยอะๆ ก่อน หรืออีกตัวอย่างเช่น “พบปะกับเพื่อนเก่า” อันนี้ก็ลงมือทำได้เลย คือโทรไปนัดเพื่อน (คุ้นๆ เหมือนจะเคยได้ดูมาจากภาพยนต์เรื่องหนึ่งเลยใช่ไหมครับ ผมเองก็นึกชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ออกเหมือนกัน)
เมื่อทำตารางแบบนี้ขึ้นมาแล้ว สิ่งที่จะได้คือ เราจะเห็นรายการที่อยากทำเป็นภาพหรือเป็นรูปธรรมมากขึ้น ว่าอะไรทำได้เลย จะได้รีบทำ หรืออะไรต้องสั่งสมเวลา ก็จะได้ทยอยทำไปเรื่อยๆ จากนั้นเราก็มาวิเคราะห์ว่าแต่ละสิ่งที่อยากทำ เมื่อนำแตกมาเป็นภารกิจย่อยๆแล้วมีอะไรบ้าง แล้วเราค่อยๆ ทำไปทีละข้อ ทีละสเต็ป จนในที่สุดจากก้าวเล็กๆแต่ละก้าวก็พาเราไปถึงเป้าหมาย หรือบรรลุสิ่งที่ต้องการทำแล้วนั่นเอง ซึ่งเทคนิคนี้เป็นหลักการเดียวกับไคเซ็น (Kaizen) เลยครับ ตอนทำไคเซ็นที่โรงงานเราก็ทำกันประมาณนี้แหละครับ เพียงแต่มันจะเครียดกว่าเยอะเท่านั้นเอง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมแนะนำว่า อย่างไรก็ควรจัดลำดับความสำคัญหรือ มุ่งเลือกมาทำไม่กี่ข้อก่อนนะครับ คืออาจจะเลือกมาปีละ 3-5 ข้อ เพราะคนเราไม่สามารถทำทุกอย่างพร้อมกันได้หมด ก็ให้เลือกข้อที่คุณคิดว่าเหมาะสม จำเป็น หรืออยากทำที่สุดไปก่อนแล้วกัน
2. ลงทุนเวลากับการพัฒนาตัวเอง
หลายคนมักบ่นว่าตัวเองไม่มีเวลาทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เหตุผลเพราะยุ่งมาก
แต่ผมจะบอกว่าการยุ่งมากๆจนไม่มีเวลามาพัฒนาตัวเอง เปรียบได้กับการใช้เงินโดยไม่เก็บออม แล้วพอไม่ออมก็ไม่มีเงินไปลงทุนต่อ เพราะไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการใช้ชีวิต สุดท้ายอนาคตจะเรียกร้องขอคุณภาพที่ดีขึ้นจากเราทุกๆวัน ฉะนั้นการที่เรามัวแต่ทำงานหรือทำธุระต่างๆไปเรื่อยๆ จนไม่ได้พัฒนาตัวเองเลย เท่ากับว่าเราหยุดอยู่กับที่
ดังนั้น เรื่องหนึ่งที่ควรทำมากๆ คือต้องรู้จักแบ่งสรรเวลาส่วนหนึ่งไปกับการพัฒนาตัวเองด้วย เช่น อ่านหนังสือ เรียนภาษาที่สาม เข้าคอร์สเรื่องที่เราอยากเชี่ยวชาญ หรือแสวงหาแนวคิดที่ช่วยให้ตัวเองมีความสุข ถ้าพูดอีกอย่างคือ “รู้จักออมเวลาเพื่อตัวเอง”
ซึ่งเทคนิคนี้สามารถปรับใช้กับข้อแรกได้นะครับ ก็คือเอาเวลาที่แบ่งสรร มาทำภารกิจที่แตกมาจากลิสต์ที่ตัวเองอยากทำ
3. จินตนาการถึงสิ่งที่เราอยากให้เป็น
ผมอ่านเจอจากหนังสือหลายเล่มมาก ที่แนะนำการปรับพฤติกรรมตัวเองด้วยการให้เราลองจินตนาการ หรือนึกภาพเหตุการณ์ที่เราอยากให้เป็นอย่างนั้นขึ้นมา เพราะในทางจิตวิทยาเชื่อกันว่า การจินตนาการเป็นเหมือนการฝึกซ้อมทำสิ่งนั้นในหัวของเรา ตอนแรกก็รู้สึกว่ามันดูไม่น่าจะจริง แต่พอได้ลองใช้แล้วพบว่า มันใช้ได้จริงเหมือนกันนะวิธีนี้
อย่างนักว่ายน้ำเจ้าของสถิติโอลิมปิกไมเคิล เฟลป์ส นอกจากซ้อมว่ายน้ำอย่างหนักแล้ว โค้ชของเขาก็ใช้วิธีให้เฟลป์สฝึกจินตนาการเวลาที่เค้าว่ายน้ำ ในแง่หนึ่งเป็นการหลอกสมองให้รู้สึกว่ากำลังทำสิ่งนั้นอยู่ตลอด และยังเป็นการทำให้เราคุ้นเคยกับพฤติกรรมนั้นมากขึ้น
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://missiontothemoon.co/