พื้นฐานของมนุษย์เราจะรักจะชอบสิ่งใดก็จะต้องสนุกกับมันก่อน เมื่อสนุกก็จะไม่เบื่อ กลับมาที่สิ่งพื้นฐานที่ทุกคนเข้าใจได้เลยในคำตอบก็คือ “เกม” เกมนี่แหละประตูสู่หัวใจแห่งการรักคณิตศาสตร์ขั้นที่หนึ่ง ผู้เขียนเองมีข้อสันนิษฐานจากประสบการณ์ที่สังเกตได้จากเพื่อนร่วมชั้นในสมัยเรียนของผู้เขียนข้อหนึ่งที่ว่า คนที่ชอบเล่นเกมมักจะมีความสามารถและทักษะในการแก้ปัญหาได้ดี สังเกตได้จากพวกเขามักจะเรียนวิชาคณิตศาสตร์และได้ผลการเรียนวิชานี้ในระดับดีถึงดีมาก
ข้อสันนิษฐานนี้ก็สอดคลองกับงานวิจัยในหลาย ๆ งานวิจัย ที่ใช้เกมเป็นตัวกลางในการพัฒนาทักษะ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ช่วยกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้ผู้เล่นรู้สึกสนุก ผ่อนคลายและพึงพอใจในการเล่น เกม เป็นกิจกรรมที่มีกติกาหรือกฎเกณฑ์ชัดเจน ใช้เล่นเพื่อเป็นการแข่งขันรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม เป็นการแก้ปัญหาในกิจกรรมนั้น ๆ ซึ่งหากเป็นเกมที่แฝงกับความรู้ทางคณิตศาสตร์ ซี่งมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ ก็จะให้ผู้เล่น เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ ได้ฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการเรียนรู้ได้ดีและจดจำได้ยาวนาน พัฒนามโนมติทางคณิตศาสตร์ ทำให้มีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านการแก้ปัญหาได้
1. เข้าใจคณิตศาสตร์
เราอาจรู้จักวิชาคณิตศาสตร์แค่ว่าเป็นวิชาที่ต้องเรียนเพราะมันสำคัญ แต่ไม่เคยทำความเข้าใจว่ามันมีประโยชน์อย่างไร และนำไปทำอะไรได้บ้าง จึงทำให้เราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบท่องจำว่า ถ้าต้องการแก้ไขปัญหานี้ต้องใช้สูตรอะไร แต่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าทำไมต้องใช้สูตรนี้หรือมีหลักในการเลือกใช้สูตรนี้เพราะอะไร จึงทำให้เราพบปัญหาที่ว่าเราประยุกต์ใช้วิชาคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาทั้งในและนอกบทเรียนไม่เป็น
2. เรียนรู้และฝึกฝนคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง
แนวทางการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง ไม่ควรที่จะศึกษาด้วยวิธีการแบบท่องจำ การฝึกฝนตนเองด้วยการทำแบบฝึกหัด ข้อสอบ จะช่วยสร้างความเข้าใจเนื้อหาวิชาได้อย่างแท้จริง ลองอ่านและทำตามแนวทางที่นำเสนอต่อไปนี้ อาจช่วยได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจเป็นสำคัญ
3. ปรับพื้นความรู้ด้านคณิตศาสตร์
บางคนที่อาจมีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ที่ไม่เพียงพอ แนวทางแก้ไขคือการทบทวนและฝึกทำโจทย์ปัญหาเพิ่มเติมให้มากขึ้น ยิ่งทำเยอะจะยิ่งช่วยให้เข้าใจมากขึ้น และสร้างสร้างพื้นฐานความรู้ด้านคณิตศาสตร์ให้แน่นขึ้น
4. พยายามสร้างเสริมความคิดความรู้สึกทางบวกต่อวิชาคณิตศาสตร์
ไม่ควรรู้สึกท้อแท้ใจเมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษาช่วงแรก ๆ แต่ควรพยายามค้นหาสาเหตุ และพยายามแก้ไข จนถึงช่วงเวลาหนึ่งก็จะรู้สึกดีขึ้นเอง
5. เรียนรู้นิยามศัพท์ และสัญลักษณ์พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นอย่างถูกต้อง
พยายามฝึกฝนทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ด้วยตนเองให้มาก และครบถ้วน กระบวนการคิดวิเคราะห์จะทำให้พัฒนาขึ้นได้ เมื่อเราสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างโจทย์ปัญหาที่พลิกแพลงได้ ก็จะทำให้เราตีโจทย์ได้ในหลาย ๆ แบบ โดยไม่จำเป็นต้องท่องจำ
6. วางแผนการเรียนอย่างสม่ำเสมอ
การเรียนคณิตศาสตร์ควรมีการศึกษาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เรียนรู้จากง่ายไปยาก จากแบบฝึกหัดเป็นแบบทดสอบ จากพื้นฐานเป็นประยุกต์ ซึ่งเป็นความรู้ที่จะต้องสะสมต่อยอดกันขึ้นไปเรื่อย ๆ จึงควรมีความสม่ำเสมอและตั้งใจควบคู่กันไป การวางแผนให้เป็นไปตามลำดับที่วางไว้จะช่วยให้เรามองเห็นเป้าหมายและแนวทางสำเร็จในแต่ละช่วงได้อย่างชัดเจน
ขอบคุณข้อมูล https://www.chulagradeuptutor.com/ และ https://www.scimath.org/