กลีบสมองของมนุษย์ (Lobes of the brain) แบ่งออกเป็น 4 กลีบ ได้แก่ สมองส่วนหน้า ( frontal lobes) ซึ่งตั้งอยู่ด้าน ในตำแหน่งของหน้าผาก ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความจำ ความคิด และศูนย์ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ สมองกลีบขมับ (Temporal Lobe) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้กลิ่นและการได้ยิน สมองกลีบข้าง (Parietal lobe) ตั้งอยู่เหนือสมองกลีบท้ายทอย ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรู้สึกตัว และเป็นศูนย์ควบคุมการรับความรู้สึก และสมองกลีบท้ายทอย (Occipital Lobe) มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการมองเห็น และการประมวลผลภาพ นอกจากนี้สมองแต่ละกลีบยังแบ่งยังออกเป็นพื้นที่เฉพาะ (individual region) ที่ทำหน้าที่เฉพาะ เช่น โบรคา (broca’s area) เป็นส่วนของสมองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับภาษา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า แต่ละส่วนของสมองทำหน้าที่แตกต่างกันเพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ และสมองทำงานตลอดเวลาแม้ในขณะหยุดพักหรือนอนหลับ
นักวิจัยมีความพยายามในการทำการศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่การทำงานเฉพาะของสมองมากขึ้น เนื่องด้วยมีความสำคัญทั้งในด้านการวิจัย และสำหรับการรักษาผู้ป่วยโดยการผ่าตัด
เลือดประมาณร้อยละ 20 ของร่างกายไหลเวียนไปยังสมอง
เนื้อเยื่อของสมองอาศัยออกซิเจนช่วยในการทำงานเช่นเดียวกับเซลล์เนื้อเยื่อที่อวัยวะอื่นๆ โดยขณะพัก สมองจะได้รับเลือดที่สูบฉีดจากหัวใจร้อยละ 15-20 แต่อาจมีปัจจัยในเรื่องของอายุ เพศ และน้ำหนักที่ส่งผลกระทบต่อการได้รับเลือดที่แตกต่างกัน
สำหรับผู้ชาย โดยเฉลี่ยแล้วการเต้นของหัวใจ 1 ครั้งจะสูบฉีดเลือดทั่วร่างกายปริมาณ 70 มิลลิลิตร ดังนั้นจะมีเลือดประมาณ 14 มิลลิลิตรที่สูบฉีดไปยังสมอง ซึ่งเป็นปริมาณเลือดที่จำเป็นสำหรับเซลล์สมอง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Stroke) เลือดจะถูกขัดขวางการนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง และอาจส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนกลายเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้ โดยจากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่แล้วโรคหลอดเลือดสมองตีบจะเกิดขึ้นที่ซีกซ้ายมากกว่าซีกขวา นั่นหมายความว่า ผู้ที่ถนัดขวามีแนวโน้มมากขึ้นที่จะได้รับผลกระทบหลังจากเกิดอาการสมองตีบตัน
การผ่าตัดสมองไม่เจ็บปวด
หลายคนอาจเคยเห็นคลิปของผู้ป่วยหญิงที่เล่นไวโอลินขณะที่ศัลยแพทย์กำลังทำการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง และคิดว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาด และเกิดคำถามมากมาย แต่การตื่นขึ้นในระหว่างการผ่าตัดสมองเป็นเรื่องปกติ
บ่อยครั้งที่การผ่าตัดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว การพูด หรือการมองเห็น จะกำหนดให้ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการทำการผ่าตัดและอยู่ภายใต้ยาระงับความรู้สึก (Anesthetics) ตื่นขึ้นมาเพื่อประเมินการทำงานตามฟังก์ชันข้างต้น อาจจะเป็นเรื่องแปลกที่การผ่าตัดสมองไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด นั่นเป็นเพราะสมองไม่มีตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดที่เรียกว่า nociceptor แต่ส่วนที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด คือ แผลที่เกิดขึ้นผ่านผิวหนัง กะโหลกศีรษะและเยื่อหุ้มสมอง (meninges)
ความเสียหายของสมองสามารถเปลี่ยนเราเป็นคนใหม่
หลายกรณีที่ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้สมองมากขึ้นมักจะเกิดมาจากความผิดพลาด หนึ่งในกรณีที่โด่งดังคือ ฟิเนียส์ พี. เกจ (Phineas P. Gage) ซึ่งเป็นหัวหน้าคนงานก่อสร้างทางรถไฟชาวอเมริกัน ได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดหิน และมีแท่งเหล็กขนาดใหญ่พุ่งทะลุผ่านกะโหลกศีรษะ ทำลายสมองกลีบหน้าด้านซ้าย แม้เขาจะรอดชีวิต แต่ความเสียหายจากการบาดเจ็บส่งผลต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมของเขา และเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นคนหยาบคายและวู่วาม กรณีดังกล่าวแสดงให้นักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 เห็นว่า ความเสียหายที่กลีบสมองส่วนหน้าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพอย่างมีนัยสำคัญ
Minute Pick Up ความแตกต่างระหว่างบุคคล
1.26 – ผลทางด้านสมองที่มีผลต่อความคิดและพฤติกรรม
6.55 – สมองกับความไม่สมบูรณ์แบบที่ส่งผลต่อความเข้าใจ
22.49 – อายุสัมพันธ์กับเรื่องสมองทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคล
27.00 – สมองกับความรู้สึกทุกข์และสุขของคนเรา
31.17 – การดูแลพ่อและแม่ในยามสมองของท่านกำลังเปลี่ยนไป
Highlight ความแตกต่างระหว่างบุคคล
● การสะสมประสบการณ์ผ่านพื้นฐานการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม หรือประสบการณ์ไว้ในสมอง ส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคลขึ้น ทำให้มนุษย์เรามีเหตุผลในการตัดสินใจและเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกัน
● หากสมองเกิดความผิดปกติขึ้นอาจส่งผลโดยตรงทำให้เหตุผลที่เคยมีเกิดการบิดเบือน หรือเกิดการเสื่อมถอยอันเกิดจากโรคต่างๆ เช่น โรคสมองเสื่อม เป็นต้น
● เมื่อเกิดอาการผิดปกติทางด้านสมองผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวและอาจจะเลือกการปฏิเสธอาการของโรค คนที่อยู่รอบตัวจะต้องใช้วิธีดูแลเป็นพิเศษเพื่อไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองแตกต่าง เป็นภาระ หรือต่อต้านการรักษา
‘ความแตกต่างระหว่างบุคคล’ คือสิ่งที่คนเราต้องยอมรับ เนื่องจากไม่มนุษย์คนไหนบนโลกนี้ที่มีลักษณะในตัวเองทั้งภายในและภายนอกที่เหมือนกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมนุษย์เรามีปัจจัยในการหล่อหลอมให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคลอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมรอบด้านที่กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจและความคิด และปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น พันธุกรรม กลุ่มเลือด โครงสร้างร่างกาย แต่ที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นเรื่องของ ‘สมอง’ ที่มักมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ความคิด และความรู้สึกของคนเราเป็นอย่างมาก
และด้วยความสำคัญของสมองที่ไม่อาจมองข้าม Jigsaw For Good Life ใน EP. 8 นี้ จึงขอหยิบยกความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองที่ทำให้เรามองสิ่งต่างๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป รวมถึงการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทางสมองที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงการกระทำไป ในหัวข้อ ‘สมองทำให้เรามองโลกไม่เหมือนกัน’
ความแตกต่างระหว่างบุคคล ความคิดกับทัศนคติเริ่มต้นที่ ‘สมอง’
เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมความคิดของคนเราจึงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคลมากมายหลากหลายรูปแบบ และเพราะเหตุใดจึงทำให้มนุษย์เชื่อในสิ่งต่างๆ และตัดสินใจว่าถูกหรือผิดในชุดความคิดที่แตกต่างกัน
แหล่งที่มา https://www.scimath.org/