คริปโทเคอร์เรนซี่ (cryptocurrency) หรือตามที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า ‘สกุลเงินเข้ารหัส’ เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัส มีราคากลางซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาด จึงสามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนคุณค่าได้เหมือนกับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นๆ เพียงแต่ไม่มีลักษณะทางกายภาพหรือสามารถ ‘จับต้องได้’ เหมือนกับสกุลเงินทั่วไป
ตลาดที่มีความผันผวนสูง
ข้อนี้อาจจะต้องเตือนตัวเองบ่อยๆ ว่า การเข้าไปลงทุนในตลาดคริปโตฯ นั้นมีโอกาสผันผวนได้ตลอดเวลา ตัวสินทรัพย์ขึ้นได้หลัก 1000% ก็ลงได้หลัก 1000% ได้เช่นกัน เพราะตลาดไม่มีเพดานราคา (ceiling) ไม่มีการห้ามซื้อขายเหรียญตัวไหนในบางเวลา (circuit breaker) เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาปิดตลาด เหมือนตลาดหุ้น และเปิดซื้อขายกับนักเทรดทั่วโลก
ยังไม่ถูกกำกับให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เป็นอีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ต้องรู้ คริปโตเคอร์เรนซีในหลายประเทศทั่วโลกยังไม่ถูกกำกับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้บอกว่าผิดกฎหมายเช่นกัน และมูลค่าของมันยังถือว่าเกิดจากการให้ ‘มูลค่าร่วมกัน’ ของนักลงทุน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะออกมาเตือนถึงตลาดคริปโตฯ เพราะมองว่าเป็นของใหม่
ซึ่งสถานะทางกฎหมาย หมายความว่า การที่กฎหมายยอมรับให้สกุลเงินนั้นสามารถนำมาชำระหนี้ได้อย่างถูกกฎหมายภายในเขตประเทศของตน เช่น เงินไทยบาทในประเทศไทย
บางเหรียญมีการผลิตออกมาไม่จำกัด
กระนั้นแม้ไอเดียของคริปโตฯ และบล็อกเชนจะฟังดูล้ำและน่าสนใจ ทว่ามันก็มีเหรียญคริปโตฯ บางเหรียญที่ผลิตออกมาไม่จำกัดเหมือนกัน อย่างเหรียญ Dogecoin ที่โด่งดัง ซึ่งผู้พัฒนาสร้างมันขึ้นมาเพื่อล้อเลียนบิตคอยน์ และเรียกมันว่า fun version ของบิตคอยน์
เส้นทางของ Dogecoin ในระยะก่อนหน้านี้จึงถูกเรียกว่าเหรียญไม่มีมูลค่า หรือถึงขั้นเรียกว่า shitcoin เลยทีเดียว ซึ่งนักวิเคราะห์คริปโตฯ มองว่าการมีขึ้นอย่างไม่จำกัดของมันมีทั้งข้อดีข้อเสีย แน่ล่ะว่าข้อเสียก็คือภาวะฟองสบู่จากการเติมเงินเก็งกำไรไปเรื่อยๆ จนทำให้ผู้พัฒนาเหรียญอื่นออกมาบอกว่า Dogecoin กำลังทำให้คนมองวงการคริปโตฯ ไม่ต่างจากวงการพนัน
หลักการทำงานของบิตคอยน์
บิตคอยน์เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเหมือนสกุลเงินทั่วไป แต่สิ่งที่บิตคอยน์แตกต่างคือมันไม่มีตัวกลางที่คอยจดบันทึกธุรกรรม เราเรียกรูปแบบนี้ว่า Decentralized หรือการกระจายศูนย์ ในขณะที่สกุลเงินทั่วไป (Fiat Money) มีตัวกลางที่คอยบันทึกธุรกรรม ซึ่งในที่นี้คือธนาคารกลางหรือรัฐบาล เรียกว่า Centralized หรือการรวมศูนย์
ระบบ Centralized ที่มีตัวกลางคอยบันทึกธุรกรรมเป็นการมอบอำนาจอันเด็ดขาดให้กับตัวกลาง ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาอย่างการทุจริต ซาโตชิ นากาโมโตะ จึงสร้างบิตคอยน์ขึ้นมาเพื่อเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีความ Decentralized ด้วยหลักการที่สร้างสรรค์อย่างมาก นั่นก็คือการให้ผู้ที่อยากบันทึกธุรกรรมต้องมาแข่งขันกันเพื่อชิงสิทธิ์ในการเพิ่มข้อมูลธุรกรรมชุดต่อไปลงบนเครือข่ายของบิตคอยน์ ซึ่งเราจะมาอธิบายให้เข้าใจกันในหัวข้อถัดไป
ความหมายของการขุดบิตคอยน์
เครือข่ายของบิตคอยน์คือ Blockchain ที่เป็นการเก็บข้อมูลแบบ Decentralized โดยทุกเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย (เรียกว่า Node) นับล้านเครื่องทั่วโลกจะเก็บข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดตั้งแต่ธุรกรรมแรกจนถึงล่าสุด และมีการตรวจสอบให้ข้อมูลทุกเครื่องตรงกันอยู่เสมอ นั่นจึงทำให้การปลอมแปลงข้อมูลเพียงไม่กี่เครื่องในเครือข่ายไม่สามารถทำอะไรกับเครือข่ายได้
การขุดบิตคอยน์จะเข้ามามีบทบาทเมื่อมีธุรกรรมชุดใหม่เกิดขึ้นในเครือข่าย ธุรกรรมชุดใหม่จะถูกประกาศเข้าไปในเครือข่ายในรูปแบบของการเข้ารหัส (Encryption) เครื่องที่จะมีสิทธิ์อัปเดตข้อมูลบน Blockchain และรับรางวัลเป็นบิตคอยน์จะต้องแข่งกัน ‘เดา’ ตัวเลขเพื่อเติมสมการและไขรหัสให้ถูกต้องก่อนเครื่องอื่น โดยเราจะเรียกเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาแข่งกันเดาตัวเลขนี้ว่า ‘นักขุด’ (Miner)
การเดาตัวเลขในที่นี้ก็คือการขุด (Mining) ซึ่งเป็นการใช้พลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์เพื่อเดาตัวเลขออกมานับล้านชุดภายในเวลาเสี้ยววินาที จำนวนของตัวเลขที่คอมพิวเตอร์สามารถเดาออกมาได้จะขึ้นอยู่กับพลังประมวลผล หรือ Hashrate ของแต่ละเครื่อง หมายความว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีพลังประมวลผลสูงก็จะมีโอกาสเดาตัวเลขได้สำเร็จก่อนเครื่องอื่น
ระบบดังกล่าวเรียกว่า Proof-of-Work หรือการพิสูจน์ด้วยการลงแรง เพื่อให้เครือข่ายสามารถหาข้อตกลงกันได้ว่านักขุดได้ลงแรงผ่านการประมวลผลแล้ว จึงมีสิทธิ์ที่จะเพิ่มข้อมูลชุดใหม่เข้าไปใน Blockchain ได้ นอกจากนี้การที่ระบบนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการขุด เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มบิตคอยน์เหรียญใหม่เข้าไปในเครือข่ายเหมือนกับการขุดทองคำที่จะเป็นการทองคำก้อนใหม่เข้าไปในตลาดนั่นเอง
วิวัฒนาการของการขุดบิตคอยน์
เพื่อรักษาความสมดุลของจำนวนบิตคอยน์ใหม่ที่จะถูกเพิ่มเข้ามาในระบบ นากาโมโตะจึงสร้างเครือข่ายบิตคอยน์ขึ้นมาโดยฝังชุดคำสั่งให้เครือข่ายทำการปรับ ‘ความยาก’ ของการเข้ารหัสให้สอดคล้องกับพลังประมวลผลโดยรวมของทั้งเครือข่าย หมายความว่ายิ่งมีนักขุดมากเท่าไร ความยากในการขุดก็จะสูงขึ้นเท่านั้น
ในช่วงแรกที่บิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2008 ยังมีจำนวนนักขุดไม่มากนัก ความยากของการขุดจึงไม่สูงมาก นักขุดสามารถใช้ CPU ของแล็ปท็อปขุดบิตคอยน์ได้สบายๆ
ต่อมาเมื่อมีนักขุดเพิ่มเข้ามามากขึ้น การแข่งขันจึงยิ่งสูงขึ้น ทำให้มีการนำ GPU ที่เป็นหน่วยประมวลผลกราฟิกของคอมพิวเตอร์มาขุดบิตคอยน์ เนื่องจาก GPU สามารถทำ Hashrate ได้มากกว่า CPU หลายสิบเท่า นี่จึงเป็นสาเหตุที่ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไป เราอาจได้เห็นข่าว GPU ขาดตลาดเป็นบางช่วง
ขอบคุณข้อมูล https://thematter.co/ และ https://thestandard.co/