เว็บไซต์ Business Insider ได้รวบรวมสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของชาวมิลเลนเนียลส์ (อายุ 23-38 ปี) ในปี 2019 เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ในปี 2020 ต่อไป แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกสำรวจและวิเคราะห์ในบริบทสังคมอเมริกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมองไปรอบตัว สถานการณ์ของมิลเลนเนียลส์บ้านเราก็มีความใกล้เคียง และถ้ามองดีๆ แล้ว หลายปัญหาก็สามารถเทียบเคียงกันได้
สถานการณ์สุขภาพจิตของชาวมิลเลนเนียลส์พอจะสรุปได้ว่า มิลเลนเนียลส์ประสบปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคซึมเศร้า ความสิ้นหวัง ฆ่าตัวตาย หมดไฟในการทำงาน จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ความโดดเดี่ยว ความเครียดด้านการเงินที่ไม่ใช่แค่เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิต แต่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ หรือชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานที่ไม่สัมพันธ์กับรายได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ปี 2019 ที่ผ่านมา ไม่ใช่ปีที่ดีของชาวมิลเลนเนียลส์นัก
มิลเลนเนียลส์กำลังเผชิญกับภาวะช็อกจากค่ารักษาพยาบาลทางจิตเวท
รายงานล่าสุดของ Blue Cross Blue Shield ระบุว่า มิลเลนเนียลส์กำลังเผชิญกับภาวะทรุดโทรมทั้งร่างกายและจิตใจมากกว่าคนเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ในช่วงอายุเดียวกัน โดยไร้การรักษาที่เหมาะสม อัตราการเสียชีวิตของมิลเลนเนียลส์เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับคนเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ในช่วงอายุเดียวกัน
นอกจากนี้ ความป่วยไข้ที่เกี่ยวกับพฤติกรรม ได้แก่ โรคซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น และการใช้สารเสพติด มีอัตราสูงขึ้นในชาวมิลเลนเนียลส์ ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะช็อกจากค่ารักษาพยาบาล
ภาวะช็อกจากค่ารักษาพยาบาลรุนแรงถึงขนาดเป็นเหตุแห่งการเสียชีวิตได้ ซึ่งรัฐบาลอมริกันระบุให้ภาวะช็อกนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต ตั้งแต่ปี 1960 จากผลกระทบของสงครามเวียดนามและการใช้ยาเสพติดเพื่อสันทนาการในยุคของคนรุ่นไซเลนท์ (คนที่เกิดปี 1928-1945) และผลกระทบจากการระบาดของโรคเอดส์ในรุ่นเบบี้บูมเมอร์
มิลเลนเนียลส์เป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น
จากรายงานวิเคราะห์ข้อมูลของ Blue Cross Blue Shield Health Index พบว่า การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในกลุ่มมิลเลนเนียลส์และวัยรุ่นมีอัตราเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคนในกลุ่มวัยอื่นๆ
นับจากปี 2013 ชาวมิลเลนเนียลส์ถูกวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 47% ในภาพรวมเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 4.4% ในกลุ่มคนอายุ 18-34 ปี
โดยอาการของโรคซึมเศร้าที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ มีอารมณ์หดหู่อย่างรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีความเศร้าลึก หรือมีความรู้สึกสิ้นหวัง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทุกด้านของมิลเลนเนียลส์ นอกจากนี้ มิลเลนเนียลส์ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1 ใน 5 คนไม่เข้ารับการรักษา เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้
‘ตายจากความสิ้นหวัง’ ก็เพิ่มสูงขึ้นในชาวมิลเลนเนียลส์ด้วย
เจมี ดูชาร์ม เขียนลงในนิตยสาร Time เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยอ้างจากรายงานกลุ่มสาธารณสุของ Trust for America’s Health และ Well Being Trust ว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลส์ยังเผชิญกับ ‘ความตายจากความสิ้นหวัง’ หรือเสียชีวิตด้วยเหตุจากยาเสพติด แอลกอฮอล์ และฆ่าตัวตาย
แม้ว่าในทศวรรษที่ผ่านมา การเสียชีวิตด้วยเหตุนี้จะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในคนทุกช่วงอายุ แต่คนรุ่นมิลเลนเนียลส์มีตัวเลขที่สูงกว่าคนเจเนอเรชั่นอื่นๆ โดยเฉพาะในปี 2017 มีชาวมิลเลนเนียลส์ถึง 36,000 คน เสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้ การใช้ยาเสพติดเกินขนาดดูจะเป็นสาเหตุการตายที่สามัญธรรมดาไปแล้ว
รายงานได้อ้างว่า สาเหตุที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขที่สูงขึ้น คือ ผู้ใหญ่ตอนต้นมีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เห็นได้จากจำนวนคนที่เข้าทำงานกับกองทัพ และใช้ชีวิตอย่างบิดเบี้ยวใน ‘สภาพแวดล้อมที่มีความกดดันสูง’ เช่น หน่วยงานราชทัณฑ์
ความพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นผิวดำ
อิงเกอร์ อี เบอร์เน็ต–ซีกเกลอร์ นักจิตวิทยาคลินิก เขียนบทความลงในเดอะนิวยอร์กไทม์โดยอ้างถึงงานศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Pedriatrics เมื่อพฤศจิกายน 2019 ว่า อัตราฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นผิวสีเพิ่มขึ้น 73% จากปี 1991-2017 ขณะที่คนผิวขาวมีอัตราเพิ่มขึ้น 7.5%
จากปี 2001 ถึง 2017 การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 60% ในกลุ่มชายวัยรุ่น อายุ 13-19 ปี ขณะที่หญิงวัยรุ่นเพิ่มขึ้น 182% ตามการศึกษาของ Journal of Community Health อิงเกอร์ยังเขียนจากประสบการณ์ของเธอที่ทำงานกับกลุ่มผู้หญิงผิวดำด้วยว่า การถูกทารุณกรรมและถูกปล่อยปละละเลยในวัยเด็กเชื่อมโยงกับการพยายามฆ่าตัวตายในวัยรุ่น
รายงานของอิงเกอร์ยังบอกถึงสาเหตุที่การฆ่าตัวตายกำลังคุกคามเยาวชนผิวดำว่า “บ่อยครั้งเยาวชนผิวดำมักจะได้รับสารว่าชีวิตของพวกเขาไม่มีคุณค่า และได้รับการสนับสนุน การเลี้ยงดู และ การคุ้มครอง ที่น้อยกว่าคนที่อื่น”
“วัยรุ่นผิวดำจำนวนมากต้องต่อสู้กับชีวิตในระบบที่ต่อต้านพวกเขา ทำให้พวกเขาต้องต่อสู้กับมันอย่างยากลำบาก เป็นสาเหตุของความเหนื่อยล้าและรู้สึกไร้จุดหมาย”
ความตึงเครียดด้านการเงินมีส่วนอย่างมากต่อสุขภาพจิต
รายงาน Trust for America’s Health and Well Being Trust ได้ระบุว่า มีปัญหาทางการเงินมากมายนับไม่ถ้วนที่มิลเลนเนียลส์ต้องเผชิญ ได้แก่ หนี้จากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก และราคาที่อยู่อาศัยที่แพงเกินเอื้อม ซึ่งค่าใช้จ่าย 4 ข้อนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตความสามารถด้านกำลังจ่ายครั้งใหญ่ของชาวอเมริกันที่กำลังระบาดในหมู่มิลเลนเนียลส์
การวิเคราะห์เปรียบเทียบจากงานวิจัยต่างๆ ใน Clinical Psychology Review ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างหนี้และปัญหาสุขภาพจิตว่า คนที่มีหนี้มีโอกาสที่จะมีความผิดปกติทางจิตมากกว่าคนที่ไม่มีหนี้ถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่ไม่มีหนี้ถึง 8 เท่า
ความตึงเครียดด้านการเงินไม่เพียงเป็นสาเหตุให้มิลเลนเนียลส์มีปัญหาสุขภาพจิต แต่ยังทำให้พวกเขาไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ ตามรายงาน ขณะที่มิลเลนเนียลส์เข้ารับการรักษามากกว่าคนรุ่นก่อนๆ แต่ก็มีถึง 1 ใน 5 ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แล้วไม่เข้ารับการรักษา จากรายงานของ Blue Cross ระบุว่า อาจมีสาเหตุมาจากค่ารักษาที่สูงเกินไป
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็น 1 ใน 4 ค่าครองชีพสำคัญของมิลเลนเนียลส์ ในปี 1960 ค่าประกันสุขภาพเฉลี่ยต่อปีต่อคนอยู่ที่ 146 ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเพิ่มเป็น 14,944 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 นอกจากนี้ จากการสำรวจของ insider และ Morning Consult มีชาวมิลเลนเนียลส์มากกว่าชาวเบบี้บูมเมอร์ที่ไม่เข้ารับการรักษาทางการแพทย์และทันตกรรม เนื่องจากมันแพงเกินไป
เจเนอเรชั่นที่โดดเดี่ยวที่สุด
มิลเลนเนียลส์มักไม่มีเพื่อนใกล้ชิดที่จะแบ่งเบาความทุกข์ทางใจได้ตลอด พวกเขามีแนวโน้มที่จะได้รับความสนับสนุนทางสังคมน้อยกว่าเจเนอเรชั่นอื่นๆ เนื่องจากแต่งงานช้า และเชื่อมโยงเข้ากับชุมชนทางการเมืองและศาสนาน้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ ตามที่เจมี ดูชาร์ม เขียนลงในนิตยสาร Time
YouGov เรียกมิลเลนเนียลส์ว่า ‘เจนเนอเรชั่นที่โดดเดี่ยว’ ซึ่งมาจากผลการสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 1,254 คน พบว่า ชาวมิลเลนเนียลส์มีแนวโน้มรู้สึกโดดเดี่ยวมากกว่าคนเจเนอเรชั่นก่อนๆ ผู้ตอบแบบสอบถามชาวมิลเลนเนียลส์ 30% บอกว่า พวกเขารู้สึกเหงาอยู่เสมอหรือบ่อยครั้ง เปรียบเทียบกับคนเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ที่บอกแบบเดียวกัน 20% และเบบี้บูมเมอร์เพียง 15%
ชาวมิลเลนเนียลส์ยังระบุในแบบสอบถามด้วยว่า พวกเขาไม่มีคนรู้จัก เพื่อน เพื่อนสนิท หรือเพื่อนรัก มากกว่าคนเจนเนอเรชั่นก่อนๆ อีกด้วย
โลกการทำงานของมิลเลนเนียลส์ช่างหนักหนา เมื่อเผชิญกับภาวะหมดไฟ
อิวาน เดอลูซ เขียนลงใน Business Insider ว่า ภาวะเบิร์นเอาต์ หรือหมดไฟ ก็คุกคามชาวมิลเลนเนียลส์อย่างน่าตกใจด้วยเช่นกัน อีกทั้ง องค์การอนามัยโลกก็ได้กำหนดให้อาการหมดไฟเป็นภาวะผิดปกติที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์เป็นครั้งแรกในปี 2019
ภาวะหมดไฟเป็นปัญหาสำคัญที่ขยายตัวเหมือนไฟลามทุ่งในโลกการทำงานทุกวันนี้ เนื่องจากปริมาณงานที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกที ขณะที่คนทำงานและทรัพยากรมีอย่างจำกัด และชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ทว่ารายได้ไม่เพิ่มตาม มีรายงานว่า มิลเลนเนียลส์ทุกข์ทรมานจากภาวะหมดไฟในอัตราที่มากกว่าคนเจเนอเรชั่นอื่นๆ โดยบทความของแอนน์ เฮเลน ปีเตอร์สัน ที่ลงไนเว็บไซต์ BuzzFeed เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถึงกับตั้งชื่อว่า เป็นเจเนอเรชั่นแห่งการหมดไฟ
แต่ถึงแม้มิลเลนเนียลส์จำนวนมากจะประสบปัญหาหมดกะจิตกะใจในการทำงาน แต่ที่ทำงานของพวกเขาก็ให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้น้อยมาก
จากการสำรวจของ Paychex บริษัทด้านทรัพยากรมนุษย์ซึ่งสำรวจคนทำงานในอุตสาหกรรมที่ค่าแรงสูง เช่น แพทย์ การเงิน และอุตสาหกรรมค่าแรงต่ำ เช่นค้าปลีก ฝ่ายผลิต โดยใช้แบบสำรวจทางออนไลน์ พบว่า กว่าครึ่งของคนทำงานบอกว่า งานของพวกเขาส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพจิต ที่แย่กว่านั้น คือ ลูกจ้าง 56% ให้คะแนนบริษัทที่ตนเองทำงานในเรื่องสวัสดิการด้านสุขภาพจิต ที่ระดับ ‘พอใช้’ หรือ ‘แย่’
ผลสำรวจลูกจ้างหลายๆ ที่ยังบอกด้วยว่า พวกเขาไม่ได้รับประกันสุขภาพจิตจากที่ทำงาน และพนักงานระดับ supervisor ถึง 45% ไม่เคยได้รับการอบรมเรื่องสุขภาพจิตใดๆ
คนทำงานนอกเวลาปกติ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า พอๆ กับ ผู้หญิง LGBTQ และชนกลุ่มน้อย
จากรายงานของ University of Exeter ที่ทำการรีวิวคนทำงาน 28,438 คน เกี่ยวกับสุขภาพจิตว่า คนที่ทำงานในเวลาที่ไม่ปกติ (9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น) และทำงานในกะกลางคืน 33% มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยทางจิตมากกว่าคนทั่วไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานสาธารณสุขในระบบที่เรียกว่า on call ที่ต้องพร้อมทำหน้าที่เสมอเมื่อมีการเรียกหา บทความใน HuffPost ได้ให้รายละเอียดว่า บุคคลากรในหน่วยฉุกเฉินและกู้ชีพ มักประสบกับภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์รุนแรง โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย ซึ่งภาวะดังกล่าวจะยังอยู่ไปอีกนานแม้ว่าจะเกษียณแล้วก็ตาม
การคุกคามและรังแกกันในที่ทำงานก็เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตได้เช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหานี้พบมากในกลุ่มคนทำงานผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย และ LGBTQ
การแบ่งแยกด้วยเหตุความเจ็บป่วยทางจิตพบได้บ่อยกว่าอคติเรื่องอื่นในที่ทำงาน
จากการสำรวจของ Kantar บริษัทข้อมูลที่มีฐานอยู่ในประเทศอังกฤษ ที่สำรวจคนทำงาน 18,000 คน ใน 14 ประเทศพบว่า กว่าครึ่งของคนทำงานทั่วโลกไม่คิดว่าที่ทำงานของพวกเขามีความรับผิดชอบเพียงพอต่อสุขภาพจิตของคนทำงาน
การขาดแคลนทรัพยากรก็เป็นผลมาจากการแบ่งแยกและอคติที่มีต่อความเจ็บป่วยทางจิต ผู้ตอบแบบสอบถาม 38% บอกว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกกีดกันด้วยเหตุจากความเจ็บป่วยของพวกเขา ทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มที่ถูกกีดกันในที่ทำงานมากที่สุด ในทางตรงกันข้าม 26% ของคนทำงานบอกว่า พวกเขารู้สึกถูกแบ่งแยกด้วยเหตุแห่งอายุ และ 12% รู้สึกว่าถูกแบ่งแยกเนื่องจากรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ
มิลเลนเนียลส์เกือบครึ่งออกจากงานเพราะปัญหาสุขภาพจิต
จากการสำรวจของ Mind Share Partners, SAP, and Qualtrics ที่ตีพิมพ์ลงใน Harvard Business Review ศึกษาเกี่ยวกับความท้าทายและการตีตราด้านสุขภาพจิตในที่ทำงานในสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 1,500 คน อายุ 16 ปีขึ้นไป ที่ทำงานเต็มเวลา พบว่า 50% มิลเลนเนียลส์ลาออกจากงานด้วยสาเหตุจากปัญหาสุขภาพจิต ในภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่า ตนเองออกจากงานเพราะปัญหาสุขภาพจิตมีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 20%
ซึ่งรายงานดังกล่าวระบุว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ มิลเลนเนียลส์ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต สุขภาพจิตกลายเป็นพรมแดนต่อไปของของความหลากหลายและการรวมเข้าด้วยกันในโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งพวกเขาก็ต้องการให้บริษัทเห็นความสำคัญด้วยเช่นกัน
เจเนอเรชั่นแห่งการบำบัด
เป็กกี้ เดรกซ์เลอร์ เรียกมิลเลนเนียลส์ว่า ‘เจเนอเรชั่นแห่งการบำบัด’ ในความเรียงที่ตีพิมพ์ลงใน The Wall Steet Journal เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากมิลเลนเนียลส์ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต และความตระหนักนี้จะช่วยลดการตีตราเรื่องการบำบัดทางจิตเวชลงได้
“การเติบโตมากับพ่อแม่ที่เปิดกว้างต่อการบำบัด ทุกวันนี้ คนอายุ 20-30 ลงไปเข้าสู่กระบวนการบำบัดเร็วขึ้น”
เป็กกี้ได้อ้างถึง รายงานปี 2017 ของ Center for Collegiate Mental Health แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนน์ ที่พบว่า ตัวเลขของนักศึกษาที่เข้ารับการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี 2011-2016 ถึง 5 เท่า จากนักศึกษาที่เข้ามาใหม่
เป็กกี้กล่าวว่า มิลเลนเนียลส์มองว่าการบำบัดเป็นการพัฒนาตัวเองรูปแบบหนึ่ง เมื่อพวกเขาปรารถนาที่จะเป็นคนสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อไม่สามารถทำได้อย่างที่คาดหวัง จึงมองหาความช่วยเหลือ
ที่มา
https://www.businessinsider.com/millennials-mental-health-burnout-lonely-depressed-money-stress?