สมุนไพรชา เป็นไม้ยืนต้นที่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เนื่องจากมีหลักฐานการค้นพบต้นชาสายพันธุ์ดั้งเดิมหลายสายพันธุ์ที่เป็นพืชพื้นเมืองประจำถิ่นของมณฑลยูนนาน และภายหลังได้แพร่กระจายไปปลูกตามประเทศทางเอเชียตะวันออกรวมถึงญี่ปุ่น ในการเพาะปลูกมักตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่มสูงประมาณ 0.6-1 เมตร ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการเก็บใบชา ส่วนการเก็บใบชามักจะเก็บแต่ใบอ่อน ๆ แรกผลิออกเป็น 3 ใบเท่านั้นชาเป็นพืชกึ่งร้อนที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตอบอุ่นและมีฝน ปลูกได้ดีที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 200-2,000 เมตร โดยชาที่ผลิตทางการค้าส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 สายพันธุ์[4] ได้แก่ กลุ่มชาพันธุ์จีน (Chinese Tea) และกลุ่มชาพันธุ์อัสสัม (Assam tea)
-
กลุ่มชาพันธุ์จีน (Chinese Tea) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. sinensis เป็นสายพันธุ์นำเข้ามาจากประเทศไต้หวันและจีน นิยมปลูกกันมากเนื่องจากให้ผลผลิตสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด ในประเทศไทยปลูกกันมากทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งการปลูกจะปลูกเป็นแถวแบบขั้นบันได มีการจัดการแปลงปลูกอยากเป็นระบบและตัดแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอ[4]
-
ต้นชา ชาสายพันธุ์จีนจัดเป็นพรรณไม้ขนาดย่อมจนถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ตามกิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์เดิมของประเทศจีน แต่ในบ้านเราก็มีปลูกมานานแล้ว เคยพบที่จังหวัดพะเยาแต่ไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็มีปลูกกันบ้างประปรายทางภาคเหนือ[1],[2]
-
ใบชา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักเล็ก ๆ หรือเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน แผ่นใบหนาและเหนียว เรียบเป็นมัน คล้ายใบข่อยแต่จะยาวและใหญ่กว่า เส้นใบเป็นตาข่าย ส่วนก้านใบสั้น[1],[2]
-
ดอกชา ออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกส้มเขียวหวาน โดยดอกชาจะมีลักษณะใหญ่สีสวย ดอกเป็นสีขาวนวล และมีกลิ่นหอม ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 1-4 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่กลางดอกจำนวนมาก[1],[2]
-
ผลชา เป็นผลแบบแคปซูล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออก ในหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมแบน หรือค่อนข้างกลม ผิวเมล็ดเรียบ เป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำหรือสีน้ำตาลอมแดง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-14 มิลลิเมตร
-
สรรพคุณของชา
-
ใบนำมาต้มเคี่ยวเอาน้ำกิน ช่วยกระตุ้นทำให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน ทำให้ตาสว่าง กระตุ้นให้หายเหนื่อย (ใบ)[1],[2],[3]
-
ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ หน้ามืดตามัว (ใบ)[2]
-
ใบชานำมานึ่งแล้วหมักกับเกลือ ทำเป็นคำ ๆ ใช้อม จะช่วยทำให้คอชุ่ม แก้อาการกระหายน้ำได้ดีมาก (ใบ)[1],[2]
-
ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ใบ)[1],[2],[3]
-
ใบชามีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น
-
รากชามีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น แก้โรคหัวใจบวมน้ำ (ราก)[2]
-
ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)[3]
-
กิ่งและใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด (ใบ,กิ่ง)[3]
-
ใบมีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมานใช้รักษาและลดอาการท้องร่วง (ใบ)[1],[3]
-
ใบใช้เป็นยาแก้บิด (ใบ)[2]
-
ใบแห้ง ใช้ชงใส่น้ำตาล กินเป็นยารักษาอาการปวดท้อง (ใบ)[5]
-
รากใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก)[2]
-
ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ)[2]
-
ช่วยขับปัสสาวะ (ราก,ใบ)[2]
-
ช่วยแก้ตับอักเสบ (ราก)[2]
-
ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษ (ใบ)[2] กิ่งและใบ นำมาชงแก่ ๆ ใช้รักษาอาการเป็นพิษของยาอันตรายที่เป็นอัลคาลอยด์ต่าง ๆ (กิ่งและใบ)[1]
-
รากมีสรรพคุณช่วยต้านเชื้อ แก้ปากเป็นแผล (ราก)[2]
-
กิ่งมีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล (กิ่ง)[3]
-
ใบใช้เป็นชะล้างแผล สมานแผล แก้บวม (ใบ)[3]
-
ราก เมล็ดและน้ำมันใช้เป็นยาภายนอก แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้แผลเปื่อย (ราก,เมล็ดและน้ำมัน)[2] กากใบชาใช้เป็นยาพอกแผล สำหรับแผลที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก (กากใบชา)[1],[3] ส่วนกิ่งและใบใช้ทำเป็นน้ำยาสมานของกรดแทนนิน ใส่แผลไหม้พอง (กิ่งและใบ)[1]
-
ราก เมล็ดและน้ำมัน ใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน (ราก,เมล็ดและน้ำมัน)[2] ส่วนใบก็มีสรรพคุณรักษากลากเกลื้อนได้เช่นกัน (ใบ)[3]
-
ใบชามีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ดี (ใบ)