ไต้หวัน (Taiwan) หรือชื่อทางการว่าสาธารณรัฐจีน ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งเอเชีย มีอุตสาหกรรมล้ำหน้า และมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก
อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงของไต้หวันยังมีบทบาทสำคัญมากในเศรษฐกิจโลก เป็นเหตุให้ไต้หวันได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกและความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย–แปซิฟิก ดัชนีการพัฒนามนุษย์ในไต้หวันยังได้รับการจัดอยู่ในอันดับสูง
ไต้หวันประกอบด้วยเกาะใหญ่ 5 แห่ง คือ จินเหมิน, ไต้หวัน, เผิงหู, หมาจู่, และอูชิว รวมถึงเกาะเล็กเกาะน้อยอีกจำนวนหนึ่ง เรียกรวมกันว่า “พื้นที่ไต้หวัน“ เมืองหลวงคือกรุงไทเป ปัจจุบันมีการสร้างเขตปกครองไทเปใหม่ เป็นเขตซึ่งประชากรหนาแน่นที่สุดในเวลานี้
ไต้หวันเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในในช่วงทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจไต้หวันงอกงามอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย
ไต้หวันถือเป็นหนึ่งประเทศยอดนิยมของคนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวและซื้อสินค้าที่มีราคาถูกค่าเงินใกล้เคียงกับไทยคือ 1 NT = 1.1 บาท การเดินทางเข้าไต้หวันไม่ต้องขอวีซ่า มีเครื่องบินที่บินตรงถึงจุดหมาย มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งชอปปิ้ง ตึกไทเป 101 ที่เคยได้ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดในโลก ก่อนจะถูกตึกดูไบแย่งแชมป์ไป การคมนาคมทันสมัย ในขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์วัฒนธรรมไว้อย่างแนบแน่น ที่สำคัญคือเราสามารถสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ได้ภายใน 1 วัน ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถือว่าไม่แพงมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ แห่ง
จุดเปลี่ยนของไต้หวัน
ในอดีตไต้หวันถือเป็นหนึ่งในประเทศยากจน เป็นแหล่งอาศัยของชนพื้นเมืองและมีชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาอาศัยร่วมด้วย จนกระทั่งชาววิลันดาและสเปนเดินทางเข้ามาในยุคสำรวจเมื่อศตวรรษที่ 17 และมาตั้งบ้านเรือนกลายเป็นนิคมใหญ่โต ต่อมาในปี 1662 ราชวงศ์หมิงในแผ่นดินใหญ่ถูกราชวงศ์ชิงล้มอำนาจ เจิ้ง เฉิงกง ขุนศึกหมิงรวมกำลังหนีมาถึงเกาะไต้หวันและเข้ารุกไล่ฝรั่งออกไปได้ ตั้งราชอาณาจักรตงหนิงขึ้นบนเกาะ แต่ในปี 1683 ราชวงศ์ชิงปราบปรามอาณาจักรตงหนิงและเข้าครอบครองไต้หวันเป็นผลสำเร็จไต้หวันจึงกลายเป็นมณฑลหนึ่งของจีน
ต่อมาเกิดความบาดหมางระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นได้ไต้หวันไปในปี 1895 ก่อนเสียไต้หวันคืนให้แก่จีนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีน พรรคก๊กมินตั๋งได้เป็นใหญ่ แต่ไม่นานก็เสียทีให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคก๊กมินตั๋งจึงหนีมายังเกาะไต้หวันและสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นบนเกาะไต้หวันแยกต่างหาก ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่ โดยจีนยังคงถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของตน และไต้หวันเองก็ยังมิได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นประเทศเอกราชมาจนบัดนี้
จ้าวแห่งเทคโนโลยี
ย้อนหลังกลับไปเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษ เกาะไต้หวันยังเป็นดินแดนยากจนประชากรมีรายได้ต่อหัวเพียง 2,000 บาท/คน/ปี แต่ปัจจุบันประชากรชาวไต้หวัน 23 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยกว่า 20,000 บาท/คน/ปี มากกว่าในอดีตถึง 10 เท่าตัว
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1973 เมื่อรัฐบาลไต้หวันต้องการปรับระบบอุตสาหกรรมจากการรับจ้างผลิต มาสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงด้วยการจัดตั้ง “สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม” Industrial Technology Research Institute (ITRI) พัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต คิดค้นเทคโนโลยีการผลิตชิปของตัวเอง ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ในปี 1987 ผลิตชิปให้กับบริษัทระดับโลก เช่น Apple และอีกกว่า 400 บริษัททั่วโลก ใช้งบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 3.3% ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าประเทศไทยถึง 4 เท่า
ต้นแบบพลังงานทางเลือก
ปี 2000 ขณะที่ทุกประเทศยังเพลิดเพลินกับการใช้พลังงานฟอสซิล ไต้หวันเริ่มคิดค้นพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น แบตเตอรี่ลีเธียม ไอออน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อต้องการสร้างนวัตกรรมแบตเตอรี่รูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการสร้างโรงงานระบบปิดที่ใช้ออโตเมชั่นบริหารจัดการ ปราศจากสารปนเปื้อนไหลออกจากโรงงาน จนได้รับการยอมรับจากชุมชนอยู่ร่วมกับโรงงานได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเธียมได้รับความนิยมในไต้หวันทั้งในรถยนต์ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และขยายเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรม อาคารประหยัดพลังงาน ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ที่ต้องการอุตสาหกรรมสะอาดและมีคุณภาพ
ชูนวัตกรรมพัฒนาเมืองยุคใหม่
ไต้หวันเป็นหนึ่งประเทศที่เน้นการใช้นวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการเมืองยุคใหม่ พัฒนาจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตสินค้าระดับโลกมากมาย และปัจจุบันก้าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของภูมิภาค มีระบบจัดเก็บค่าทางด่วนโดยไม่ต้องใช้ไม้กั้น รถยนต์สามารถวิ่งผ่านให้เซ็นเซอร์ตรวจับที่ตัวรถโดยไม่ต้องจ่ายเงินสดหรือสแกนบัตร การพัฒนาเศรษฐกิจจนทำให้ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวของประชากรเท่าเทียมกันเกือบทุกพื้นที่ ระบบสายไฟฟ้าที่ถูกนำลงใต้ดินเกือบ 100% การจัดพื้นที่ว่างเป็นสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้เพื่อซับมลพิษ รวมถึงการสนับสนุนให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์หันมาใช้ระบบไฟฟ้าเป็นหลัก ทำให้ไต้หวันกลายเป็นสมาร์ทซิตี้ที่มีความโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แหล่งขัอมูล https://www.salika.co