ไฟป่า(Wild Fire) คือ ไฟที่เกิดขึ้นแล้วลุกลามไปได้โดยปราศจากการควบคุมไฟป่าอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณภูขาจะมีความรุนแรงและขยายพื้นที่ได้เร็วกว่าพื้นราบ
1) ปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่า เกิดจาก 2 สาเหตุ ดังนี้
1.1 เกิดจากธรรมชาติ
ไฟป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่นฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน ภูเขาไฟระเบิด ก้อนหินกระทบกัน แสงแดดตกกระทบผลึกหิน แสงแดดส่องผ่านหยดน้ำ ปฏิกิริยาเคมีในดินป่าพรุ การลุกไหม้ในตัวเองของสิ่งมีชีวิต (Spontaneous Combustion) แต่สาเหตุที่สำคัญ คือ
1.1.1 ฟ้าผ่า เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟป่าในเขตอบอุ่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา
1.1.2 กิ่งไม้เสียดสีกัน อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ป่าที่มีไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและมีสภาพอากาศแห้งจัด เช่น ในป่าไผ่หรือป่าสน เป็นต้น
2. สาเหตุจากมนุษย์
ไฟป่าที่เกิดในประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อนส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ดังนี้
2.1 เก็บหาของป่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่ามากที่สุด การเก็บหาของป่าส่วนใหญ่ได้แก่ ไข่มดแดง เห็ด ใบตองตึง ไม้ไผ่ น้ำผึ้ง ผักหวาน และไม้ฟืน การจุดไฟส่วนใหญ่เพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินทางผ่านป่าในเวลากลางคืน หรือจุดเพื่อกระตุ้นการงอกของเห็ด หรือกระตุ้นการแตกใบใหม่ของผักหวานและใบตองตึง หรือจุดเพื่อไล่ตัวมดแดงออกจากรัง รมควันไล่ผึ้ง หรือไล่แมลงต่างๆ ในขณะที่อยู่ในป่า
2.2 เผาไร่ เป็นสาเหตุที่สำคัญรองลงมา การเผาไร่ก็เพื่อกำจัดวัชพืชหรือเศษซากพืชที่เหลืออยู่ภายหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบต่อไป ทั้งนี้โดยปราศจากการทำแนวกันไฟและปราศจากการควบคุม ไฟจึงลามเข้าป่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
2.3 แกล้งจุด ในกรณีที่ประชาชนในพื้นที่มีปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องที่ทำกินหรือถูกจับกุมจากการกระทำผิดในเรื่องป่าไม้ ก็มักจะหาทางแก้แค้นเจ้าหน้าที่ด้วยการเผาป่า
2.4 ความประมาท เกิดจากการเข้าไปพักแรมในป่า ก่อกองไฟแล้วลืมดับ หรือทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้นป่า เป็นต้น
2.5 ล่าสัตว์ โดยใช้วิธีไล่เหล่า คือจุดไฟไล่ให้สัตว์หนีออกจากที่ซ่อน หรือจุดไฟเพื่อให้แมลงบินหนีไฟ นกชนิดต่างๆ จะบินมากินแมลง แล้วดักยิงนกอีกทอดหนึ่ง หรือจุดไฟเผาทุ่งหญ้า เพื่อให้หญ้าใหม่แตกระบัด ล่อให้สัตว์ชนิดต่างๆ เช่น กระทิง กวาง กระต่าย มากินหญ้า แล้วดักรอยิงสัตว์นั้นๆ
2)สถานการณ์การเกิดไฟป่า ในปี พ.ศ.2543 ถือว่าเป็นปีแรกที่มีการสำรวจสถิติไฟป่าในภาพรวมของทั้งโลกโดยใช้การแปลภาพถ่ายดาวเทียม จากรายงานชื่อ Global Burned Area Product 2000 พบว่าจากการวิเคราะห์เบื้องต้นมีพื้นที่ไฟไหม้ทั่วโลกใน พ.ศ. 2543 สูงถึงประมาณ 2,193.75 ล้านไร่ และนับวันสถานการณ์ไฟป่าก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ได้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 173 คนบาดเจ็บมากกว่า 500 คน และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 7500 คน เป็นต้น
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมนประเทศไทย และบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2550 ปฏิบัติงานดับไฟป่า จำนวน 5609 ครั้ง พื้นที่ถูกไฟไหม้ 87,290.3 ไร่ โดยท้องที่ภาคเหนือมีสถืติไฟไหม้มากที่สุด จำนวน 3,273 ครั้ง พื้นที่ถูกไฟไหม้ 36,626.8 ไร่
การตรวจติดตาม Hotspot (จุดที่คาดว่าจะเกิดไฟ) จากดาวเทียม Terra และ Aqua ด้วยระบบ MODIS พบว่า ตั้งแต่วันที่ 4-9 มีนาคม 2550 เกิด Hotspot ในภูมิภาคอินโดจีนและประเทศพม่า โดยมีแนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยพบค่าสูงสุดในวันที่ 6มีนาคม 2550รวม 1,668 จุด วันที่ 4 และ 8 มีนาคม 2550 รวม 1,477 จุด และ 1,112 จุดตามลำดับ และจากการตรวจติดตาม Hotspot อย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 17 มีนาคม 2550 พบว่า Hotspot มีจำนวนเหลือเพียง217 จุด สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน Hotspot มากที่สุดในวันที่ 6 มีนาคม 2550 จำนวน 944 จุด และในวันที่ 17 มีนาคม 2550 เหลือเพียง 59 จุด