ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการเจริญสัมพันธไมตรีและติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น ในปี ๒๓๙๘ โปรดให้ทำสนธิสัญญาทางการทูตและการค้ากับประเทศอังกฤษ เรียกว่า สนธิสัญญาเบาริง ซึ่งต่อมาประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาแบบเดียวกันนี้กับอีกหลายประเทศ อันเป็นการเปิดประเทศอย่างกว้างขวางมากขึ้น
เมื่อชาวตะวันตกติดต่อค้าขายกับไทยมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ได้มีความพยายามที่จะขอจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง เพื่อสิทธิในการออกธนบัตรซึ่งให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่งดงาม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะฝ่ายไทยเห็นว่าชาวต่างประเทศเหล่านั้นคิดแต่จะเอาผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ทำให้ประเทศไทยเห็นความสำคัญของการมีธนาคารกลางของไทย เพื่อเป็นสื่อกลางในทางการค้าและทางเศรษฐกิจ แต่โครงการก่อตั้งธนาคารกลางก็ได้หยุดชะงักไปเพราะเวลานั้นยังขาดประสบการณ์และบุคคลากรที่มีความรู้
ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551
1. ออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร
เป็นผู้ออกธนบัตรของรัฐบาล ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเงินตรา และมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะออกบัตรธนาคารในราชอาณาจักร
2. กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน
ดำเนินนโยบายการเงินตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนด ได้แก่ รับเงินฝาก กำหนดอัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ซื้อขายเงินตราต่างประเทศและแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต กู้ยืมเงินตราต่างประเทศเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งค่าของเงินตรา กู้ยืมเงินเพื่อการดำเนินนโยบายการเงิน ซื้อขายหลักทรัพย์เท่าที่จำเป็นและแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต เพื่อควบคุมปริมาณเงินในระบบการเงินของประเทศ รวมถึงยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ตามที่กำหนดโดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทน
3. บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.
บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. (ไม่รวมสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา) การนำสินทรัพย์ไปลงทุนหาประโยชน์ โดยคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง ผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ และความเสี่ยงในการบริหารจัดการ
4. เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล
เป็นนายธนาคารของรัฐบาล โดยมีอำนาจหน้าที่ในการรับจ่ายเงินเพื่อบัญชีฝากของกระทรวงการคลัง การรับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ หรือของมีค่าอย่างอื่นเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล การเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการซื้อขายโลหะทองคำและเงิน การซื้อขายและโอนตั๋วแลกเงิน หลักทรัพย์และใบหุ้น การควบคุมและการรวมไว้ในแหล่งกลางซึ่งเงินปริวรรตต่างประเทศ หรืออาจเป็นนายธนาคารของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ นอกจากนี้ อาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล โดยมีอำนาจกระทำการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐบาล จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย หรืออาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
5. เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการให้กู้ยืมเงินหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงิน การรับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ หรือของมีค่าอย่างอื่นของสถาบันการเงิน รวมถึงการสั่งให้สถาบันการเงินส่งรายงานหรือชี้แจงเพื่ออธิบายเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สิน หรือภาระผูกพันได้
6. จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน
จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน ระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน และบริหารจัดการระบบดังกล่าวให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
7. กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
กำกับ ตรวจสอบ วิเคราะห์ฐานะและการดำเนินงาน ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีเสถียรภาพ
8. บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
9. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.bot.or.th/