The Broken Windows Theory ลดปัญหาอาชญากรรมในเมืองด้วย “ทฤษฎีกระจกแตก”
” ต้นตอของย่านที่พักอาศัยสุดอันตราย อาจเริ่มต้นขึ้นจากกระจกแตกสลายเพียงแค่บานเดียว “
ถ้าเราจะบอกคุณว่า คดีอาชญากรรมน้อยใหญ่ในเมืองสามารถแก้ไขให้ลดจำนวนลงได้ จากการลงมือซ่อมแซมกระจกที่เคยแตกเสียหายให้กลับมามีสภาพดีเหมือนใหม่ ด้วยผลลัพธ์การทดลองที่เชื่อว่าปัญหาการลุกลามของเชื้ออาชญากรร้าย สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายได้ด้วยการซ่อมแซมรักษาสภาพพื้นที่ในเมืองให้ดี อยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย คุณจะเชื่อมั้ย ?
ทฤษฎีกระจกแตก
ทฤษฎีกระจกแตกนี้ถูกเผยแพร่ขึ้นครั้งแรก โดยอาจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด James Q. Wilson และนักอาชญาวิทยา George L. Kelling ในปี 1982 เป็นผลงานการศึกษาที่พูดถึงเรื่องสาเหตุของการเกิดอาชญากรรมนั้นมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการขาดระเบียบวินัยของสภาพเมืองที่อยู่อาศัย ในละแวกชุมชนที่บ้านเรือนมีกระจกหน้าต่างแตกอยู่แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่ยอมซ่อมแซม รอยแตกนั้นจะกลายเป็นสื่อสัญญาณให้กับคนที่ผ่านไปมาในย่านนั้นคิดว่า “นี่คือชุมชุนที่เสื่อมโทรม ไม่มีใครดูแลรับผิดชอบ เพราะงั้นแล้วชั้นเองก็ไม่ต้องใส่ใจความเป็นระเบียบไปด้วยก็ได้”
จากทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติจริง
สิ่งที่จะมาช่วยยืนยัน ทฤษฎีกระจกแตก ให้มีน้ำหนักมาขึ้นไปอีกก็คือการนำแนวทางนี้ไปใช้งานจริงๆในเมือง ของนาย Rudolf Giuliani อดีตนายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก (1983-1989) ได้นำทฤษฎีกระจกแตกมาปรับใช้ในเมืองของตน ลงมือปราบปรามอาชญากรรมในนิวยอร์กยุคอันตรายที่ยังมีพวกค้ายา การต่อสู่ยิงกันกลางเมือง เหตุข่มขืนหญิงสาวเกิดขึ้นแทบทุกวัน แต่แทนที่จะเพ่งเล็งหมายหัวพวกอาชญากรตัวเป้ง ท่านเทศมนตรีกลับทุ่มทรัพยากรกำลังคน กำลังทรัพย์ลงไปเอาผิดอย่างจริงจังกับความผิดเล็กๆน้อยๆในเมืองเสียแทน ตั้งแต่คนที่พ่นสเปรย์กราฟฟิตี้ ปัสสาวะในที่สาธารณะ เบี้ยวค่ารถไฟใต้ดิน ให้เจ้าหน้าที่หันมาตั้งใจสอดส่องพร้อมแก้ไขปัญหาที่เคยมองข้ามไป เอาทั้งหูและดวงตาไปดูแลแปลงไร่และผืนนากันให้มากขึ้น
ภาพจาก http://www.wisegeek.com/what-is-the-broken-windows-theory.htm
เป็นธรรมดาที่ในช่วงแรกๆของนโยบายนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ คอมเม้นในเชิงลบกันถล่มทลาย จนกระทั่งผู้คนเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงขึ้นทีละน้อย จากเด็กมือบอนที่เคยมาฝากลีลาจิตกรรมฝาผนังในสถานีรถไฟใต้ดินอยู่เป็นประจำ ก็เหนื่อยหน่ายและลดจำนวนลงเรื่อยๆ เพราะทันทีที่พวกเค้าสร้างงานเสร็จในตอนกลางคืน เช้าวันรุ่งขึ้นผนังแผ่นนั้นก็ถูกทาสีขาวทับให้เรียบสนิทเหมือนใหม่ไปซะแล้ว เป็นวงจรพวกนายทาได้-ชั้นก็ลบได้ เพื่อส่งข้อความถึงเด็กวัยรุ่นพวกนั้นว่า “อย่าเสียเวลามาพ่นสีที่นี่เลยนะน้อง”
ภาพจาก http://www.nycedc.com/program/graffiti-free-nyc
บรรยากาศแวดล้อมในเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฝาผนังสะอาดสะอ้านไร้รอยขีดเขียนจากเด็กมือบอน ถนนหนทางที่ปลอดกลิ่นปัสสาวะ ผู้คนที่ไม่กล้าทำความผิดแม้แต่เพียงแค่การโกงค่าโดยสารรถไฟใต้ดินอีกแล้ว นโยบายการทุ่มเทเอาผิดกับเรื่องแม่เพียงเล็กน้อยในเมืองค่อยๆ ส่งผลให้อัตราการเกิดคดีอาชญากรรมในนิวยอร์กลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคดีฆาตกรรม 2,154 คดี และคดีอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆอีกกว่า 626,182 คดีในสมัยที่รับตำแหน่งใหม่ (1992) เมื่อผ่านกระบวนการจัดการตามแนวคิดของทฤษฎีกระจกแตก ในเวลา 5-6 ปีต่อมา จำนวนคดีฆาตกรรมเหลือเพียง 770 และคดีอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ อีกแค่ 355,893 คดี (1997) ทำให้นโยบายนี้เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นในหมู่ชาวนิวยอร์กเกอร์ แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่านโบบาย Zero Tolerance ปรานีเป็นศูนย์ คือเราจะไม่ทนและจะเข้าไปจัดการแบบทันท่วงที แม้จะเป็นเพียงแค่ความผิดเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
จากเมืองนิวยอร์กย้อนกลับสู่เมืองกรุงเทพฟ้าอมรของเรา ที่ประชากรส่วนใหญ่มักจะทำได้แค่นั่งถอนหายใจกับปัญหาที่คิดว่าเป็นเชื้อร้ายแบบเรื้อรังเกินแก้ไข อยากชวนให้พวกเราลองมาเปลี่ยนความคิดกันเสียใหม่ การจัดการแก้ที่ต้นต้นเหตุใหญ่เป็นเรื่องที่ดี แต่การร่วมมือกันสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบสุขก็ไม่ควรจะมองข้ามไปด้วยเหมือนกันนะครับ เพราะหากแต่ละคนไม่รับผิดชอบ ละเลยแม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆของตนเองก็สามารถลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ๆ ของสังคมได้ จึงควรจะหันมาเอาจริงจังกับการแก้ปัญญาเล็กน้อยที่อยู่ตรงหน้า เหมือนอย่างที่คำโบราณเค้าเคยว่า จงเริ่มตัดเชื้อไฟเสียตั้งแต่ต้นลม
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://en.wikipedia.org/wiki/Broken_windows_theory
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1480397
และ
https://dsignsomething.com