มีทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence Theory) พูดถึงเรื่องของความฉลาด ว่าไม่ได้มีเพียงด้านความคิดด้านเดียว แต่มีอย่างน้อย 8 ด้าน คือ
1) ด้านตรรกศาสตร์ – คณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
2) ด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
3) ด้านมิติสัมพันธ์ (Visual Spatial Intelligence)
4) ด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย (Bodily Kinesthetic Intelligence)
5) ด้านดนตรี (Musical Intelligence)
6) ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal Intelligence)
7) ด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
8) ด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)
แนวทางเพิ่มพูนปัญญา
1) ส่งเสริมสุขภาพร่างกาย
สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงคือรากฐานที่สำคัญ ทำให้สมองมีพลังงานทำงานเต็มศักยภาพ ทำให้ร่างกายทำงานได้เต็มที่ตามที่สมองสั่งการ แล้วย้อนกลับมาพัฒนาสมอง เป็นวงจรแห่งปัญญาในที่สุด การส่งเสริมสุขภาพกายให้แข็งแรง โดยหลักใหญ่มีอยู่ 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย เอกเขนก
1. อาหาร
สารอาหารครบถ้วน ปริมาณพอเหมาะ ถูกสุขลักษณะ ช่วยพัฒนาสมอง แต่ไม่ต้องคำนวณให้ละเอียดยิบ ควรทำให้การกินเป็นเรื่องสนุก กินแล้วอร่อย ไม่ใช่เคร่งเครียดกับการกิน ให้เด็กรู้จักหิวบ้าง อย่าป้อนตลอด แต่ก็อย่าให้หิวตลอดจนสมองย่ำแย่ เพราะขาดสารอาหาร เด็กจะเรียนรู้เองว่าร่างกายต้องการมากน้อยแค่ไหน บางวันทานมาก บางวันทานน้อยก็ไม่เป็นไร เพียงสอนเด็กให้รู้จักเวลาอาหาร รับผิดชอบเรื่องการกินด้วยตนเอง ให้เด็กเลือกเมนูอาหารด้วยตนเองบ้าง สิ่งเหล่านี้จะสอนให้เด็กรู้จักการคิด การควบคุมตนเอง ความรับผิดชอบ และรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
2. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายพอเหมาะ ออกแดดรับลมบ้าง อย่าปล่อยให้เด็กอยู่แต่ในห้องแคบๆ เพราะจะทำให้เด็กมีความคิดคับแคบไปด้วย การออกกำลังกายต้องเป็นไปโดยอิสระตามความสนใจ ไม่ใช่เรียนว่ายน้ำ ต่อด้วยเทนนิส แล้วจบท้ายด้วยเทควันโด้ บางคนพ่วงท้ายด้วยตีกอล์ฟอีก หรือไม่ก็ฝึกซ้อมทุกวัน วันละหลายชั่วโมง เพื่อเตรียมแข่งขัน ทำให้เด็กมีแต่ความกดดัน ความเครียด
การออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือ การเล่น โดยเล่นอย่างอิสระ และสร้างสรรค์ตามจินตนาการความคิดของเขา ซึ่งจะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วย และช่วยระบายความก้าวร้าวรุนแรงไปในตัว ได้เรียนรู้กฎกติกาของสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย
3. เอกเขนก
ควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เด็กแต่ละวัยมีความต้องการในการนอนไม่เท่ากัน การได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอก็ช่วยให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่สมวัยได้ ช่วงที่นอนหลับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตก็ทำงานได้เต็มที่ ในขณะเดียวกันสมองก็เริ่มจัดระบบความคิด เก็บข้อมูลให้เข้าที่เข้าทางในช่วงที่นอนหลับเหมือนกัน
งานอดิเรก ก็ถือว่าเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง มีเวลาว่างหางานอดิเรกทำบ้าง เป็นกิจกรรมที่เด็กสนใจเป็นพิเศษ จะเป็นการสะสม ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ หรืออะไรก็ได้ ซึ่งอาจจะดูไร้สาระบ้างก็ไม่เป็นไร อย่าไปบังคับให้เด็กทำงานอดิเรกที่เราชอบ และเห็นว่ามีประโยชน์
2) ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
พ่อแม่ควรใส่ใจกับพัฒนาการในแต่ละวัยของเด็ก เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ ถ้าพัฒนาการด้านไหนช้าก็ต้องรีบกระตุ้นทันที ถ้าไม่ช้าก็ส่งเสริมให้เร็วขึ้นได้เช่นกัน แต่ถ้าทำมากเกินไป ก็ส่งผลเสียได้เช่นกัน การเร่งเร้าเร็วจนเกินความสามารถในวัยนั้น อาจทำให้เด็กหมดความมั่นใจ แล้วไม่กล้าเรียนรู้ต่อก็ได้
พัฒนาการเด็กมี 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์ และด้านสังคม การส่งเสริมควรพิจารณาทุกด้าน
เด็กจะมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อจากศีรษะจรดปลายเท้า เป็นขั้นๆ เช่น เริ่มชันคอได้ เอามือยัน นั่ง คลาน ลุกยืน และเดิน ถ้าเด็กขวบครึ่ง แล้วยังไม่พูดเป็นคำ ก็ต้องรีบหาสาเหตุ รีบแก้ไข การรอไปเรื่อยๆ เด็กก็อาจพูดได้เหมือนกัน แต่เด็กทุกคน ไม่โชคดีแบบนั้นเสมอไป
3) สอนให้คิดเป็น ทำเป็น (ไม่ใช่แค่จำได้ ลอกเลียนแบบเป็น)
การสอนให้เด็กคิดแบบมีเหตุมีผล ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จะทำให้เด็กคิดเป็นระบบ แต่การให้คิดนอกกรอบ ไม่ไปจำกัดความคิด ไม่ใช้เหตุผลบ้าง จะได้มีความคิดสร้างสรรค์ดี ในขณะเดียวกันถ้าคิดแล้วเกิดผลเสียต่อตนเอง และผู้อื่น ก็คงไม่ดี จึงควรคิดในเชิงบวกด้วย การสอนคิด ต้องสอนให้เด็กคิดได้ทุกรูปแบบ คือ
* คิดเป็นระบบ (Systematic Thinking)
* คิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
* คิดเชิงบวก (Positive Thinking)
1. การคิดเป็นระบบ
การคิดเป็นระบบ จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการถามให้คิดเป็นระยะ เช่น “แล้วลูกคิดว่าอย่างไร” “แล้วถ้าเป็นแบบนี้จะได้ไหม” พยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “ผิด” กับ “ไม่ใช่” แต่ให้บอกว่า “ลองดูใหม่อีกที” สร้างความมั่นใจให้เด็กกล้าคิดก่อน พอมั่นใจแล้วช่วงหลังจะมีคำว่า ผิดบ้างก็คงไม่เป็นไร เพราะถ้าเด็กไม่เคยผิดเลย ก็คงปรับตัวในสังคมได้ลำบากเช่นกัน
การคิดที่เป็นระบบจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการทดลองลงมือทำด้วย ทำเพื่อให้เห็นว่าเหตุอย่างไรทำให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้ และคิดย้อนกลับได้ว่าผลลัพธ์แบบนี้เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง ต้องเปิดโอกาสให้เด็กเผชิญความยากลำบากบ้าง หรือเรียนรู้การคิดแก้ปัญหา ถ้าเด็กไม่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเล็กๆ มาก่อน โตขึ้นจะให้แก้ไขปัญหาใหญ่ๆ คงลำบาก เพราะไม่เคยมีระบบวิธีคิดในการแก้ปัญหา แต่ถ้าเด็กพยายามแล้วแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องเข้าไปชี้แนะด้วย อย่าปล่อยให้เขาแก้ไขปัญหาจนท้อแท้ หมดกำลังใจ ไม่มีความมั่นใจ
2. ความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ เป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว เพียงรักษาไว้ ให้โอกาสเด็กได้แสดงออกอย่างอิสระ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่หายไป การเล่นคือการแสดงออกของความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ให้โอกาสเด็กเล่นอย่างอิสระ อย่ามองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ให้เขาทำในสิ่งที่เขาต้องการทำบ้าง
3. ความคิดเชิงบวก
เด็กจะคิดเชิงบวกได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง ปลอดภัย ถ้าพ่อแม่ทะเลาะกันทุกวัน เด็กอยู่ในความเครียดตลอดเวลา จะทำให้เด็กคิดในแง่ดีคงเป็นไปได้ยาก เพราะมีแต่ความหวั่นไหว หวาดกลัวตลอดเวลา
ฝึกให้เด็กรู้ว่า ทุกอย่างมีทั้งด้านบวกและด้านลบ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดว่าจะมองด้านไหน คิดด้านไหน
4) สร้างนิสัยรักการอ่าน
การที่เด็กจะฉลาดได้ บางครั้งก็ไม่สามารถคิดทุกอย่างเองได้หมด ต้องมีการหาข้อมูลเพิ่มพูนความรู้อยู่ตลอดเช่นกัน การอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของการได้มาซึ่งข้อมูล แต่เด็กที่ถูกบังคับให้อ่านหนังสือตลอด ถูกเร่งรัดในด้านการเรียน พอจบออกจากมหาวิทยาลัย ก็เป็นศัตรูกับหนังสือไปเลย ไม่ยอมแตะต้องหนังสืออีก สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของเด็กไทย ทำให้การขับเคลื่อนทางปัญญาหยุดชะงัก ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะเขาไม่ได้ถูกบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เล็ก เขาอ่านเพราะว่าเขาต้องอ่าน ไม่ใช่อ่านเพราะว่าเขาอยากอ่าน
เด็กที่มีนิสัยรักการอ่าน ถ้าเด็กได้หนังสือที่ตนชอบ อยากอ่านก็จะตั้งหน้าตั้งตาอ่าน ไม่เข้าใจก็ถาม ผิดกับเด็กที่ถูกบังคับให้อ่าน พอเผลอก็หยุดอ่านทันที เด็กที่รักการอ่านมักจะจดจำได้ว่า หนังสือที่ตนประทับใจคือเล่มไหนบ้าง คงไม่มีเด็กคนไหนตอบว่า ชอบอ่านหนังสือ ก. ไก่ มากที่สุด ถ้ามีอย่าเพิ่งดีใจ คงต้องมาพิจารณาดูกันแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับเด็ก คงไม่ปกติแน่
การสร้างนิสัยรักการอ่านเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ควรบ่มเพาะตั้งแต่เด็ก หนังสือเล่มแรกมีความสำคัญมาก ควรจะทำให้เด็กประทับใจ และอยากอ่านเล่มต่อไป ควรเป็นหนังสือภาพ เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังก่อนนอน ไม่ใช่ให้เด็กอ่านเอง ตามด้วยหนังสือนิทานที่มีตัวหนังสือเล็กน้อย รูปภาพมาก มีสีสัน น่าสนใจ
ถ้าเด็กต้องเสียน้ำตาตั้งแต่อ่านหนังสือเล่มแรกแล้ว ก็อย่าไปคาดหวังว่าเด็กจะกลายเป็นคนรักการอ่าน การใช้หนังสือ ก. ไก่ เป็นหนังสือเล่มแรก บังคับให้เด็กอ่าน ให้ท่องจำ อ่านซ้ำๆ ทั้งๆ ที่ไม่สนุก ก็อาจทำให้เด็กเกลียดหนังสือไปเลยก็ได้
สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กๆ น้อย ในสายตาผู้ใหญ่ แต่มีผลกระทบต่อเด็กทั้งชีวิต ถ้าเด็กชอบอ่านหนังสือก็ไม่ต้องบังคับควบคุม เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ที่ทำไม่ยาก จะได้ไม่ต้องมาตามแก้เรื่องยากๆ ตลอดไป
5) เล่นให้สนุก เล่นให้เป็น เล่นให้สมตามวัย
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในปัจจุบันนี้จะต้องมาพูดถึงเรื่องการเล่น มาบอกให้เด็กเล่น มาบอกพ่อแม่ว่าจะต้องเล่นกับลูกอย่างไร แต่ถ้าไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาจริงๆ และเป็นปัญหาใหญ่ด้วย
การเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคน และเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาสติปัญญา และความสามารถในการเรียนรู้ทุกด้านของเด็ก นอกจากนี้ยังมีประโยชน์มากมาย ตั้งแต่เป็นการออกกำลังกาย ฝึกฝนเชาวน์ปัญญาผ่านการเล่นสมมุติ จัดระบบความคิดในสมองให้เป็นขั้นตอน ลำดับเรื่องราว
ขอบขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.happyhomeclinic.com/a02-IQ%20empowerment.htm