แบคทีเรียดื้อยาเป็นหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนและต่อวงการสาธารณสุขทั่วโลก ในขณะที่นักวิจัยพยายามที่จะหาทางแก้ปัญหา การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในชาเขียวอาจช่วยเพิ่มความสามารถของยาปฏิชีวนะเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียบางสายพันธุ์ที่ทนต่อการรักษาในปัจจุบันได้
ความพยายามในการค้นคว้าอย่างหนักเพื่อค้นหาวิธีการแก้วิกฤตความต้านทานยาปฏิชีวนะเมื่อเชื้อโรคหรือแบคทีเรียดื้อยามากขึ้น และกลายเป็นปัญหาสำหรับการรักษาทางการแพทย์ ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า สารประกอบหนึ่งที่พบในชาเขียวอาจช่วยสนับสนุนยาปฏิชีวนะให้สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นักวิทยาศาสตร์จาก University of Surrey School of Veterinary Medicine ในเมือง Guildford สหราชอาณาจักร มุ่งเน้นไปที่แบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบที่ทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงต่อระบบผิวหนัง เลือด ทางเดินหายใจ และทางเดินปัสสาวะ ทั้งนี้แบคทีเรียชนิดนี้พัฒนาจนดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด (multidrug (MDR)) และยากต่อการรักษามากขึ้น โดยในปัจจุบัน แพทย์รักษาโรคจากการติดเชื้อ P. aeruginosa ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกัน
ภาพที่ 2 โครงสร้างของสารประกอบ Epigallocatechin gallate (EGCG)
ที่มาภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/Epigallocatechin_gallate
จากงานวิจัยพบว่า ชาเขียวมีสารประกอบที่เรียกว่า Epigallocatechin gallate (EGCG) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาแอสทรีโอแนม (aztreonam) หรือยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่ใช้กันทั่วไปในการรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเชื้อ P. aeruginosa โดยจากการทดสอบการใช้สารประกอบ EGCG ร่วมกับ aztreonam ในห้องปฏิบัติการเพาะเชื้อ พบว่า การรวมกันนี้ช่วยลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย P. aeruginosa สายพันธุ์ดื้อยาหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้ยังทำการทดสอบปฏิสัมพันธ์ระหว่าง EGCG และ aztreonam ในแบบจำลองสัตว์โดยใช้ตัวอ่อนของผีเสื้อ (moth larvae) ซึ่งเป็นแบบจำลองสำหรับการศึกษาประสิทธิภาพของยาเพื่อยืนยันการค้นพบ ในขณะที่การทดสอบในเซลล์ผิวของมนุษย์นั้นแสดงให้เห็นถึงระดับความเป็นพิษน้อยที่สุดจนถึงระดับที่ไม่มีความเป็นพิษเลย
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medical Microbiology เพื่อชี้แจงถึงการค้นพบแนวทางการต่อสู้กับแบคทีเรียดื้อยาให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า สารประกอบ EGCG อาจช่วยให้การดูดซึมของยา aztreonam เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มผ่านการซึมผ่านของแบคทีเรีย และอาจรบกวน “biochemical pathway” ที่เชื่อมโยงกับความไวต่อยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า การใช้ EGCG ร่วมกับยา aztreonam ช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยาหรือ EGCG เพียงอย่างเดียว
การศึกษาค้นพบว่า ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอย่าง EGCG สามารถใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะและได้ผลที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ทางคลินิกชี้ให้เห็นว่า วิธีการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญสำหรับการรักษาทางการแพทย์ที่สามารถกำจัดภัยคุกคามทางสุขภาพอย่างเชื้อแบคทีเรีย P. aeruginosa ได้ และการศึกษาครั้งนี้ยังเป็นอีกแรงผลักดันสำหรับการพัฒนาทางเลือกสำหรับการรักษาโรคจากเชื้อดื้อนาต่อไปในอนาคต