1.ชื่อวัคซีน : mRNA-1273
ผู้คิดค้น : บริษัท Moderna Therapeutics
บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในรัฐแมสซาชูเซตส์ ของสหรัฐอเมริการ่วมมือกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) โดยเป็นการฉีดยีนของไวรัส ซึ่งในกรณีนี้คือ mRNA เข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อให้ร่างกายสร้างโปรตีนจำเป็นที่เลียนแบบไวรัสโคโรนา ฝึกให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการจัดการกับไวรัสดังกล่าว
เทคโนโลยีชีวภาพ mRNA ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ใช้ในการรักษาโรคภัยใด ๆ มาก่อน ทำให้หากวัคซีนตัวนี้สำเร็จจะกลายเป็นวัคซีน mRNA ตัวแรกของโลกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้กับมนุษย์
สถานะล่าสุดของการพัฒนาวัคซีนตัวนี้ ทาง Moderna Therapeutics เปิดเผยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า กำลังทดลองวัคซีนในระยะที่สาม ด้วยการฉีดวัคซีนให้อาสาสมัครจำนวน 30,000 คนในสหรัฐอเมริกาซึ่งหากเป็นไปตามการคาดการณ์ ทางบริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนออกมาอย่างน้อย 500 ล้านโดสภายในต้นปี ค.ศ. 2021
2.ชื่อวัคซีน : BNT162b2
ผู้คิดค้น : บริษัท Pfizer
หนึ่งในบริษัทผู้คิดค้น พัฒนาและผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดของโลก ในนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับบริษัท BioNTech ด้านเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติเยอรมนี ในการพัฒนา mRNA โดยต่อยอดจากการทดลองของบริษัท BioNTech ที่กำลังศึกษาทดลองผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็ง
ขณะนี้ ทั้ง Pfizer และ BioNTech ได้ควบรวมการทดลองวัคซีนในระยะที่สองและสามเข้าไว้ด้วยการ โดยฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชากรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อไวรัส COVID-19 จำนวน 30,000 คน ใน 39 รัฐของสหรัฐอเมริการวมถึงประชากรในบราซิล อาร์เจนตินา และเยอรมนี
บริษัททั้งสองแห่งประเมินว่าจะสามารถติดตามตรวจสอบและพิสูจน์ผลลัพธ์ของวัคซีนได้ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ก่อนยื่นเรื่องให้กับทางการสหรัฐอเมริกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกำหนดในเดือนธันวาคม และหวังว่าจะสามารถผลิตวัคซีน 1,300 ล้านโดสออกแจกจ่ายภายในสิ้นปี ค.ศ. 2021 ซึ่งผลการทดสอบวัคซีนในระยะที่หนึ่งแสดงให้เห็นว่า วัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันที่ออกมาจัดการกับไวรัสโคโรนาโดยเฉพาะ
3.ชื่อวัคซีน : ChAdOx1nCoV-19
ผู้คิดค้น : มหาวิทยาลัย University of Oxford
มหาวิทยาชั้นนำของอังกฤษ ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่อย่าง AstraZeneca ในการผลิตวัคซีนพาหะ หรือ “ม้าโทรจัน” เข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยทางทีมวิจัยจะสกัดโปรตีนของไวรัสโคโรนา ที่ช่วยให้ไวรัสบุกรุกเข้าไปในเซลล์ของร่างกาย แล้วทำให้โปรตีนนี้อ่อนแอลงก่อนฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันออกมาตอบสนอง
สำหรับการทดสอบในระยะที่หนึ่งและสองในหมู่บรรดาอาสาสมัครพบว่า วัคซีนดังกล่าวทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันออกมาได้อย่างแข็งแกร่ง รวมถึงเพิ่มปริมาณภูมิต้านทาน (antibodies) จำนวนมากให้แก่ร่างกาย อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยคือ ปวดหัวและอ่อนเพลีย เท่านั้น
ขณะนี้ วัคซีนได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนทดสอบระยะที่สาม ซึ่งทางทีมวิจัยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้กับบรรดาอาสาสมัครจำนวน 50,000 คนจากบราซิล อังกฤษ สหรัฐอเมริกาและแอฟริกาใต้
4.ชื่อวัคซีน : Corona Vac
ผู้คิดค้น : บริษัท Sinovac
บริษัทผู้ผลิตคิดค้นและพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์สัญชาติจีนได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัย Butantanของบราซิล ในการผลิตวัคซีนด้วยการใช้ไวรัสโคโรนาในส่วนที่ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยแต่สามารถกระตุ้นร่างกายให้เกิดภูมิคุ้มกันมาใช้ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ทั้งนี้เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่่ผ่านมา ทางหน่วยงานของบราซิลได้อนุมัติให้ทีมวิจัยเดินหน้าทดสอบวัคซีน Corona Vac ในระยะที่สามแล้วระหว่างรอผลการทดสอบในระยะที่สอง ขณะที่ผลการทดลองในระยะที่หนึ่งพบว่า วัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันสู้กับไวรัสได้ดี โดยไม่มีผลข้างเคียงที่น่าวิตก
5.ชื่อวัคซีน : ยังไม่มีชื่อวัคซีน
ผู้คิดค้น : บริษัท Sinopharm
บริษัทผู้ผลิตคิดค้นและพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์ของรัฐบาลจีน ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบัน Biological Products แห่งอู่ฮั่น โดยใช้ชิ้นส่วนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้หมดฤทธิ์เรียบร้อยแล้ว ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ ทาง Sinopharmได้พัฒนาวัคซีนจนถึงระยะที่สามแล้ว เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการฉีดวัคซีนให้กับบรรดาอาสาสมัครอายุระหว่าง 18-60 ปี จำนวน 15,000 คน ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติมากถึง 200 ชาติ พร้อมตั้งเป้าเตรียมผลิตวัคซีนออกมาแจกจ่ายสู่สาธารณะภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่การทดสอบในระยะที่หนึ่งและสองพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสได้ดี โดยไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงแต่อย่างใด
6.ชื่อวัคซีน : Bacillus Calmette-Guérin BRACE trial
ผู้คิดค้น : สถาบัน Murdoch Children’s Research Institute
สถาบันวิจัยสุขภาพเด็กที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) ด้วยการทดลองนำวัคซีน Bacillus Calmette-Guérinหรือ BCG ซึ่งใช้ในการป้องกันวัณโรคมาใช้ หลังมีหลักฐานจากผลการศึกษาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า วัคซีนตัวนี้น่าจะมีผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยให้ร่างกายมีพลังต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มากมาย ทำให้ทีมนักวิจัยหันมาศึกษาความเป็นไปได้ที่ข้อดีของวัคซีน BCG จะครอบคลุมถึงการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่
ขณะนี้ ทีมวิจัยในออสเตรเลียได้เดินหน้าเข้าสู่การทดสอบวัคซีนในระยะที่สามแล้ว ซึ่งรวมถึงการเลือกทดสอบแบบสุ่มภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อม แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะออกมาแย้งก่อนหน้านี้ในช่วงกลางเดือนเมษายนว่า ไม่มีหลักฐานที่วัคซีนBCG จะป้องกันผู้คนจากการติดเชื้อไวรัสCOVID-19 ได้
7.ชื่อวัคซีน : Ad5-nCoV
ผู้คิดค้น : บริษัท CanSino Biologics
บริษัทผู้ผลิตคิดค้นและพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์เอกชนของจีน ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรโนาสายพันธุ์ใหม่ด้วยการนำ Adenovirus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่จะแพร่ระบาดด้วยการสัมผัสอย่างใกล้ชิด มาทำให้อ่อนกำลังลง เพื่อเป็นตัวพาหะนำชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้าสู่ร่างกาย กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านไวรัสCOVID-19
ผลการทดลองในระยะที่หนึ่งและสองที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา แสดงให้เห็นว่า วัคซีนตัวนี้กระตุ้นให้ร่างกายของผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ และไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงของการรับวัคซีน
จนถึงขณะนี้ บริษัทยังอยู่ในการทดสอบขั้นทดลองระยะที่สอง กระนั้น CanSino ก็ถือเป็นเอกชนรายแรกของจีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้วัคซีนกับประชาชน โดยรัฐบาลจีนอนุมัติให้ใช้วัคซีนดังกล่าวเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยจำกัดการใช้ให้อยู่แต่ในหมู่ของทหารเท่านั้น
ทั้งนี้ ในระหว่างที่นานาประเทศทั่วโลกฝากความหวังสูงสุดไว้ที่บรรดาวัคซีนทั้งหลาย มาตรการที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จึงยังมีเพียงการป้องกันร่างกายไม่ให้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม จำกัดการเดินทาง และสวมหน้ากากป้องกัน ตามที่ WHO ได้ออกมาเน้นย้ำและเตือนอยู่เสมอเท่านั้น
ขอบคุณแหล่งข้อมูล อ้างอิง
-
https://www.bbc.com/news/health-51665497
-
https://www.ecdc.europa.eu/en/covid-19/latest-evidence/vaccines-and-treatment
-
https://www.nih.gov/news-events/news-releases/phase-3-clinical-trial-investigational-vaccine-covid-19-begins
-
https://www.cnbc.com/2020/08/03/who-says-no-silver-bullet-to-coronavirus-and-there-might-never-be.html
- และhttps://www.sarakadeelite.com/