ทุกคนน่าจะพอทราบความหมายของแรงโน้มถ่วงกันมาบ้างว่ามันคือแรงที่ดึงดูดระหว่างดาวเคราะห์ไว้ด้วยกัน (เกิดเป็นระบบสุริยะ) หรือในอีกนัยหนึ่งมันคือแรงที่ดึงดูดสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเข้าไปสู่ตัวมันเอง (เข้าสู่ศูนย์กลางเมื่อมีการโคจร) ดังนั้นแรงดึงดูดนี้เองที่เป็นเหตุผลของการโคจรของดางเคราะห์ ดาวฤกษ์ ดาวหาง หรือแม้กระทั่งขยะอวกาศรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ แล้วแรงโน้มถ่วงทำอะไรอีก? คำถามเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงที่เรามักจะได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียนประถม คือ “ทำไมเมื่อเรากระโดดลอยตัวขึ้น แทนที่เราจะลอยขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำไมเราถึงกลับลงมาที่พื้น” “ทำไมสิ่งของถึงร่วงลงสู่พื้นเมื่อเราปล่อยจากที่สูง” คำตอบก็คือ เพราะ แรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดของโลกที่ทำให้ทุกคนและทุกสิ่งบนโลกไม่ลอยออกไปจากโลกและทำให้ทุกอย่างร่วงลงสู่พื้นดิน อะไรบ้างที่มีแรงโน้มถ่วง? “ทุกสิ่งที่มีมวล (Mass) จะมีแรงโน้มถ่วง ยิ่งมีมวลมากเท่าใด ก็ยิ่งมีแรงโน้มถ่วงมากขึ้น” แต่ทั้งนี้จุดอ่อนของแรงโน้มถ่วงคือ ระยะทาง กล่าวคือ ถ้าระยะห่างจากวัตถุที่มีแรงโน้มถ่วงเพิ่มมากขึ้น แรงโน้มถ่วงที่จะส่งผลต่อสิ่งนั้นจะต่ำลง หรือก็คือ แรงโน้มถ่วงอ่อนแรงลงตามระยะทางที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นในทางกลับกันแรงโน้มถ่วงก็จะมีผลมากถ้าเราดึงดูดสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวมัน ภาพที่ 1 Gravity holds the planets in orbit ที่มา https://pixabay.com, ChadoNihi / 71 images แรงโน้มถ่วงของโลก แรงโน้มถ่วงของโลกนั้นมาจากมวลโดยรวมทั้งหมดของโลกเอง ซึ่งมวลทั้งหมดของโลกนี้เองที่ทำให้เกิดแรงดึงดูดกับมวลของตัวเรา…