มารูจักกับ พุทธศาสนานิกายเซ็น Zen Buddhism เพื่อใช้ในการเรียนรู้
ความเป็นมา
พุทธศาสนานิกายเซ็นเป็นพุทธศาสนานิกายหนึ่งที่พัฒนาขึ้นในดินแดนจีนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 และ 8 โดยการผสมผสานแนวคิดของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจากอินเดียและปรัชญาเต๋าในจีน คำว่า “เซ็น” (Zen) นี้มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสฤตว่า “ธยานะ” (dhyana) และภาษาบาลีว่า “ฌาณ” (jhana) ที่แปลว่า “สมาธิ” เมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่สู่ดินแดนจีน ชาวจีนออกเสียงคำนี้ว่า “ฉาน” (Ch’an) ต่อมาจึงพัฒนาเป็นพุทธศาสนานิกายฉาน และดินแดนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลของแนวคิดนิกายฉานนี้เข้ามา แต่ที่เรียกเป็นพุทธศาสนานิกายเซ็นก็เพราะชาวญี่ปุ่นออกเสียงคำว่า “ฉาน” เป็น “เซ็น” ต่อมาพุทธศาสนานิกายนี้ได้พัฒนาออกไปเป็นหลายสำนัก แต่มีแนวคิดหลักร่วมกัน คือเป็นพุทธศาสนาที่เน้นการปฏิบัติสมาธิ
พระสูตรสำคัญในพุทธศาสนานิกายเซ็น
ถึงแม้ว่าหลักสำคัญของพุทธศาสนานิกายเซ็น คือ การสืบทอดพิเศษนอกคัมภีร์ (special transmission outside the scripture) ไม่ต้องอาศัยคำพูดและตัวอักษร (no dependence on words and letters) ชี้ตรงไปยังแก่นแท้ของมนุษย์ให้เห็นแจ้งในธรรมชาติของตนเองและบรรลุความเป็นพุทธะ (seeing into one’s nature and the attainment of Buddhahood) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเซ็นปฏิเสธคัมภีร์หรือตัวอักษร ในทางตรงข้าม อาจารย์เซ็นทั้งหลายต่างได้สร้างวรรณกรรมมากมายดังปรากฎเป็นปริศนาธรรม บทกวี เป็นต้น พุทธศาสนานิกายเซ็นเป็นพุทธศาสนานิกายหนึ่งซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากจีนและอินเดียที่ได้รับสืบทอดจากพระสูตรสำคัญ ๆ ดังนี้ มหาปรัชญาปารมิตาสูตร (Prajñaparamita Sutra) สัทธรรมปุณฑริกสูตร (Lotus Sutra) สูตรเว่ยหลาง (The Platform Sutra of Patriarch Hui-Neng) วัชรสูตร (Diamond Sutra) แต่พระสูตรที่สำคัญคือลังกาวตารสูตร (Lankãvatãra Sutra) ดังมีประวัติเล่าว่าท่านโพธิธรรมได้มอบลังกาวตารสูตรให้กับผู้สืบทอดตำแหน่งสังฆปรินายกเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา
การบรรลุธรรม
การบรรลุธรรมในพุทธปรัชญานิกายเซ็น (禅 Zen) เรียกว่า “ซาโตริ” (悟りsatori) หมายถึงการรู้แจ้งแห่งสภาวะความจริงสูงสุด กล่าวคือ ซาโตริ เป็นประสบการณ์การรับรู้ความจริงว่าสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือกล่าวได้ว่าประสบการณ์ซาโตรินี้เป็นการทำลายความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้เกิดความแบ่งแยก เป็นการได้มาซึ่งความเข้าใจว่าที่แท้แล้วทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียว กล่าวคือ เป็นเพียงความว่าง หรือความเป็นเช่นนั้นเอง (Suchness) มีวิธีการหลักเพื่อการบรรลุธรรม 3 วิธีด้วยกัน คือ ซาเซ็น( 座禅 zazen) หรือการนั่งสมาธิ ซันเซ็น (参禅 sanzen) หรือการขบคิดปริศนาธรรม (公案 kōan) และ มนโด (問答 mondō) หรือ การถามตอบอย่างฉับพลัน
ท่านเซ็นไค ชิบายามะ (Zenkai Shibayama) ได้อธิบายปรัชญาเซ็นไว้ดังนี้
เซ็นมิใช่ข้อสรุปทางความนึกคิด ที่เข้าถึงได้ด้วยเหตุผลและการคิดใคร่ครวญ วิถีแห่งเซ็นนั้นมิอาจพบได้โดยความรู้แบบแบ่งแยกของเรา และมิใช่เพียงเท่านี้ แม้ความรู้และความคิดของเราทั้งหมด ซึ่งเป็นผลผลิตของจิตสำนึกก็จำเป็นจะต้องขจัดออกอย่างสิ้นเชิงด้วย หากทำได้สำเร็จแล้วจะเข้าถึงสัจจะแห่งประสบการณ์บริสุทธิ์ ซึ่งจะช่วยให้เราตื่นขึ้นสู่ความว่างหรือสุญญตาและในประสบการณ์ภายในอันลึกล้ำนี้แหละที่เซ็นดำรงอยู่ ถ้าพูดในแง่จุดหมายแล้ว ประสบการณ์แห่งเซ็นก็คือ การตระหนักรู้ถึงรากฐานแห่งการดำรงอยู่