สาขายอดฮิตของหลักสูตร “วิศวกรรมศาสตร์”
1 วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering)
สิ่งที่นักศึกษาในภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะได้เรียนก็คือ ศาสตร์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเน็ทเวิร์คต่างๆ ครอบคลุมเนื้อหาของวิชา Computer Science ทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องของ Information System และวิศวกรรมไฟฟ้าบางส่วนด้วย
นักศึกษาที่จบสาขานี้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ.. วิศวกรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์ระบบ ผู้ดูแลระบบเครือข่าย วิศวกรระบบ ฯลฯ
คุณเหมาะที่จะเรียนสาขานี้ถ้า… คุณคลั่งไคล้เรื่องของคอมพิวเตอร์ การพัฒนาระบบต่างๆ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของคอมพิวเตอร์และภาษาคอมพิวเตอร์
2 วิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering)
สาขานี้จะเป็นเรื่องของการวิจัย ออกแบบ และวิเคราะห์โครงสร้างรูปร่างทางพลศาสตร์ เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระบบขับเคลื่อน วัสดุและกรรมวิธีในการผลิต การวางแผนและควบคุมการสร้างเครื่องบิน ขีปนาวุธ ยานอวกาศ ดาวเทียม ฯลฯ รวมไปถึงการทดสอบหรือการซ่อมบำรุงด้วย เป็นอีกหนึ่งสาขายอดฮิตและมีค่าตอบแทนในการทำงานที่ค่อนข้างสูง
นักศึกษาที่จบสาขานี้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ วิศวกรด้านอากาศยาน ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน
คุณเหมาะที่จะเรียนสาขานี้ถ้า… คุณชื่นชอบในเรื่องของเทคโนโลยีการบินและอวกาศ
3 วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering)
วิศวกรรมอุตสาหการ หรือที่นิยมเรียกกันย่อๆ ว่า IE (Industrial Engineering) จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการ การออกแบบอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตต่างๆ รวมไปถึงการควบคุมเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตสมัยใหม่ จุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไร และประสิทธิการในการทำงาน โดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมด้านต่างๆ เช่น การวิเคราะห์และสังเคราะห์ทางวิศวกรรมเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น
นักศึกษาที่จบสาขานี้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ… วิศวกรในโรงงาน ทั้งสายงานการผลิต สายงานการวางแผนผลิต และ สายงานบริหารงานผลิต
คุณเหมาะที่จะเรียนสาขานี้ถ้า… ชอบเรื่องของการคำนวณ เพราะหน้าที่หลักของวิศวอุตสาหกร คือการคำนวณทุกอย่าง ตั้งแต่ การใช้งานเครื่องจักร วัตถุดิบ แรงงาน ฯลฯ
4 วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering)
หลักๆ วิศวกรรมไฟฟ้า จะศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆ และการประยุกต์การใช้ไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น การใช้งานสมการในการวิเคราะห์ การผลิตและส่งถ่ายพลังงานไฟฟ้า การจัดการกับสัญญาณไฟฟ้า อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ฯลฯ โดยมีสาขาแยกย่อยลงไปอีกเป็นจำนวนมาก
นักศึกษาที่จบสาขานี้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ… วิศวกรผู้ออกแบบ ควบคุม ติดตั้ง ดูแลระบบไฟฟ้าและระบบส่องสว่าง และ Sale Engineer
คุณเหมาะที่จะเรียนสาขานี้ถ้า… คุณสนใจเรื่องของวงจรไฟฟ้า ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์
5 วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering)
นี่คือสาขาทางด้านวิศวกรรมที่เก่าแก่ที่สุดสาขาหนึ่ง มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม วิศวกรรมเครื่องกล เน้นศึกษาโดยใช้ความรู้ด้าน ฟิสิกส์ เคมี มาประยุกต์ใช้กับงานด้านกลศาสตร์ พลศาสตร์ อุณหพลศาสตร์ กลศาสตร์ของไหลและพลังงาน รวมถึงการออกแบบเครื่องจักรกล เช่น ระบบไฮดรอลิก หุ่นยนต์ พลศาสตร์การบิน การควบคุมการผลิตเครื่องจักร ยานยนต์ อากาศยาน ระบบทำความร้อนและความเย็น และอื่นๆ อีกมากมาย
นักศึกษาที่จบสาขานี้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ… วิศวกรในสายงานวิศวกรรมเครื่องกล เช่น สายทำความเย็นและปรับอากาศ (ติดตั้ง / ออกแบบ), สายยานยนต์ โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วน งานวิจัยและพัฒนา, สายพลังงาน โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ ผลิตสำรวจน้ำมันและก๊าซ, สายซ่อมบำรุง โรงงาน โรงไฟฟ้า โรงปิโตรเคมี, สายออกแบบ งานด้าน engineering detail design, sale engineer
คุณเหมาะที่จะเรียนสาขานี้ถ้า… ชอบเรียนวิชาฟิสิกส์เป็นชีวิตจิตใจ และสนใจในเรื่องของเครื่องยนต์กลไกทุกชนิด
6 วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)
งานของวิศวกรโยธา คือการวางแผนและควบคุมการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน สะพาน ระบบขนส่ง อาคาร ระบบสุขาภิบาล วิจัยและให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคต่างๆ ในการใช้วัสดุและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นึกศึกษาที่จบจากสาขานี้ สามารถประกอบอาชีพ เช่น วิศวกรสำรวจ วิศวกรด้านโครงสร้าง วิศวกรด้านควบคุมและออกแบบการจราจร วิศวกรภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
นักศึกษาที่จบสาขานี้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ… วิศวกรออกแบบโครงสร้าง วิศวกรประมาณราคาสถาปัตย์ และวิศวกรสนามในบริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างๆ
คุณเหมาะที่จะเรียนสาขานี้ถ้า… คุณชอบงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสาธารณูปโภค การสำรวจ และการทำแผนที่
7 วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering)
นี่เป็นสาขาวิชาที่นำเอาความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อออกแบบ สร้างหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพสูง เช่น การสร้างอวัยวะเทียม หรือพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ชิ้นใหม่ๆ
นักศึกษาที่จบสาขานี้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ… วิศวกรชีวการแพทย์ ในหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆ บริษัทรับซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์
คุณเหมาะที่จะเรียนสาขานี้ถ้า… สนใจทั้งเรื่องของวิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ ชีววิทยา เคมี เภสัชศาสตร์ รังสีวิทยา เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้อง
8 วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering)
วิศวกรรมเคมี คือสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบ วางแผน ควบคุมกระบวนการทางเคมี และพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเคมีต่างๆ โดยใช้กระบวนการกายภาพ เคมี หรือชีวเคมี ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนส่วนผสม สถานะ และคุณสมบัติของวัตถุดิบให้กลายไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการอย่างปลอดภัย และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการนำเอาศาสตร์ของวิศวกรรมเครื่องกลและวิชาเคมี มาประยุกต์เข้าด้วยกัน
นักศึกษาที่จบสาขานี้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ… วิศวกรผู้ควบคุมระบบและกระบวนการผลิตในโรงงาน วิศวกรที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย
คุณเหมาะที่จะเรียนสาขานี้ถ้า… ชอบเรียนวิชาเคมีและฟิสิกส์
9 วิศวกรรมปิโตรเลียม (Petroleum Engineering)
สาขานี้ เน้นศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนขุดเจาะและการผลิตไฮโดรคาร์บอน ซึ่งได้แก่ น้ำมันหรือก๊าช อันถือถือว่าอยู่ในภาค “ต้นน้ำ” ของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ สถานที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่คือนอกชายฝั่งหรือประจำแท่นขุดเจาะที่มีความเสี่ยง นักศึกษาที่จบสาขานี้จึงได้รับค่าตอบแทนที่สูงมากเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มวิศวกรด้วยกัน