ด้วยวิวัฒนาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ต่างให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตาก็เป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน แน่นอนเรากำลังพูดถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสายตาของคนเราอย่างการมองเห็นที่ปกติไปจากเดิม เช่น ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง แว่นตาและคอนแทคเลนส์เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่สำหรับบทความนี้ เรากำลังจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของคอนแทคเลนส์ ติดตามอ่านกันได้เลย
ภาพคอนแทคเลนส์
ที่มา https://pixnio.com , Amanda Mills, USCDCP
คอนแทคเลนส์ อาจเรียกในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ว่า เลนส์สัมผัส โดยปกติแล้ว เลนส์สัมผัสดังกล่าวจะถูกนำไปวางบนกระจกตาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตา มีวิวัฒนาการที่มาช่วยทำให้ผู้มีปัญหาทางสายตาไม่เสียบุคลิกภาพจากการใส่แว่นตา และในขณะเดียวกันปัจจุบันไม่เพียงแต่มาช่วยเสริมบุคลิกภาพ แต่ยังถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานเพื่อความสวยงามหรือแฟชั่นอีกด้วย ซึ่งก็คือการออกแบบเลนส์ให้มีสีสันต่าง ๆ หรือบางเลนส์ก็มีการปรับรูปทรงตาดำให้มีลักษณะกลมใหญ่เพื่อให้ผู้ใส่มีดวงตาที่โตกลมและสีนัยน์ตาที่สวยงามขึ้น
คุณสมบัติของคอนแทคเลนส์ที่ถูกออกแบบและพัฒนานำมาใช้กับดวงตานั้นต้องมีลักษณะที่สำคัญคือ ผลิตจากวัสดุที่ยินยอมให้ออกซิเจนหรืออากาศผ่านเข้า-ออกได้ ไม่สลายตัว ไม่เป็นวัตถุที่จับหรือห่อหุ้มต่อเชื้อโรคได้ง่าย และวัตถุนั้นสามารถเปียกน้ำได้ ไม่เป็นพิษ ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ที่อาจทำลายเนื้อเยื่อของดวงตา
คอนแทคเลนส์มีวิวัฒนาการเริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงเวลาประมาณปี ค.ศ.1887 เริ่มต้นมีการออกแบบที่ทำจากวัสดุแก้วใส ลักษณะเป็นกระจกนาฬิกากลม ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอาจจะยาวหรือสั้นกว่าตาดำประมาณ 1 ม.ม. ใช้สวมคลุมรอบดวงตา ในเวลาต่อมาประมาณ ปี ค.ศ.1939 เริ่มมีการใช้วัสดุที่ทำจากพลาสติกเป็นครั้งแรก มีการพัฒนาโดยใช้พลาสติกใสชนิดพิเศษที่สังเคราะห์ขึ้นมา เพื่อลดปฏิกิริยาที่อาจจะเกิดกับดวงตา สารนี้มีชื่อว่า โพลีเมทิลเมทาครัยเลต (polymethymethacrylate) หรือ PMMA มีลักษณะเบาและใส ในปี ค.ศ.1948 มีการออกแบบพัฒนาคอนแทคเลนส์ออกแบบให้ครอบคลุมเฉพาะในส่วนของกระจกตาเพียงเท่านั้น ปี ค.ศ.1971 มีการพัฒนาคอนแทคเลนส์แบบนุ่มขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรก ปี ค.ศ.1978 มีการออกแบบคอนแทคเลนส์แบบก๊าซแพร่ผ่านได้ ในช่วงเวลาไม่กี่ปีต่อมา ( ค.ศ.1986 – ค.ศ.1986) ก็กำเนิดคอนแทคเลนส์แบบที่สามารถใส่ข้ามคืนและแบบใช้แล้วทิ้งที่เห็นกันบ่อย ๆ ในปัจจุบัน
อาจกล่าวโดยสรุปวิวัฒนาการของคอนแทคเลนส์ได้ดังนี้
- คอนแทคเลนส์แบบแข็ง (Conventional hard lenses)
- คอนแทคเลนส์แบบนุ่ม (Soft hydrogel contact lenses)
- คอนแทคเลนส์แบบยืดหยุ่น (Flexible lenses)
ในเวลาต่อมา ข่าวการพัฒนาคอนแทคเลนส์ก็เริ่มมีกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กล่าวคือข่าวการพัฒนาของนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จสามารถคิดค้นคอนแทคเลนส์ชนิดที่สามารถซูมภาพได้ 2.8 เท่าโดยการกระพริกตา และไม่นานมานี้ ก็มีรายงานข่าวอัปเดตว่า (กรกฎาคม , 2019) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก ได้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นคอนแทคเลนส์ชนิดหนึ่ง ที่สามารถออกคำสั่งให้ซูมเข้าซูมออกได้ โดยการกะพริบตา 2 ครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ ไม่ว่าการใช้งานคอนแทคเลนส์ชนิดใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือการใช้งานและบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง ขั้นตอนสำคัญคือการทำความสะอาด เพื่อกำจัดฝุ่นและสิ่งสกปรกที่อาจติดอยู่ที่เลนส์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ การใช้น้ำยาทำความสะอาดก็เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ช่วยได้
และทั้งหมดที่นำเสนอไปเบื้องต้นก็เป็นเพียงข้อมูลคร่าว ๆ ที่อาจทำให้ผู้อ่านได้ทราบถึงวิวัฒนาการของคอนแทคเลนส์ว่ามีความเป็นมาและการพัฒนามาอย่างไรบ้าง
แหล่งที่มา
B.D.Ratner, A.S.Hoffman, F.J.Schoen and J.E.Lemons çBiomaterials Science: An Introduction to Materials in Medicineé Academic Press, USA (1996)
J.I.Kroschwitz, çPolymers: Biomaterials and Medical applicationsé JohnWiley & Sonsé Canada (1989)
P.C.Nicolson and J.Vogt, çSoft Contact Lens Polymers: An Evolutioné,
Biomaterial, 22 (2001) p.3273-3283
นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ. คอนแทคเลนส์. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562. จาก www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-system/eye/1474-คอนแทคเลนส์.html