ในไม่นานมานี้มีนักการเมือง บุคคลสำคัญทางสังคมโดนโจมตีทางสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยรูปภาพและข้อมูลที่เคยลงไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ที่เคยลงไว้นานหลายสิบปี และถูกขุดคุ้ยมาโจมตี และทำให้เกิดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังและความขัดแย้ง เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วย ร่องรอยดิจิทัล (Digital Footprint)
ร่องรอยดิจิทัล คือ ร่องรอยที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและโลกไซเบอร์กระทำการต่าง ๆ ในโลกดิจิทัล เช่น การใช้งานอัปโหลดข้อมูลส่วนตัว ไฟล์งาน รูปภาพ การใช้งานสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ โดยระบบต่าง ๆ ของอินเทอร์เน็ตจะบันทึกข้อมูลของผู้ใช้งาน เช่น ชื่อ และข้อมูลส่วนตัว วันเดินปีเกิด ตำแหน่งงาน ผลงาน ข้อมูลการศึกษา ประวัติส่วนตัว ของผู้ใช้งาน ร่องรอยดิจิทัล สามารถบอกให้ผู้อื่นทราบถึงสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่สนใจ และสิ่งที่เราอยากทำ
ภาพที่ 1 Digital Footprint
ที่มา ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล
ร่องรอยดิจิทัล มีประโยชน์ ที่จะช่วยใช้ผู้ใช้สะดวกและประหยัดเวลามากขึ้นเวลาเรากรอกข้อมูลส่วนตัวลงในช่องว่างของหน้าเว็บไซต์ เราไม่ต้องพิมพ์ใหม่ เพราะร่องรอยดิจิทัล ได้บันทึกข้อมูลเราไว้ก่อนแล้ว ร่องรอยดิจิทัล จึงเหมือนสมุดบันทึกที่สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมออนไลน์ของผู้ใช้งานร่องรอยดิจิทัล มี 2 ประเภทคือ
- ร่องรอยดิจิทัล ที่ผู้ใช้เจตนาบันทึก (Active Digital Footprints) ร่องรอยดิจิทัล ของผู้ใช้งานที่เจตนาบันทึกไว้ในโลกออนไลน์ ข้อมูลที่เราตั้งใจเปิดเผยโดยที่รู้ตัว เช่น อีเมล เบอร์โทร ชื่อโปรไฟล์ เฟซบุ๊ก หรือสิ่งที่เราตั้งใจโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย เช่น สิ่งที่เราพูดหรือโพสต์ รูปที่เราเคยลง สิ่งที่เรากดไลก์ รีทวิต หรือแชร์ ที่ตั้งสถานที่ที่เราอยู่หรือเคยไป
- ร่องรอยดิจิทัล ที่ผู้ใช้ไม่เจตนาบันทึก (Passive Digital Footprints) ร่องรอยดิจิทัล ของผู้ใช้งานที่ไม่มีเจตนาบันทึกเอาไว้ในโลกออนไลน์ หรือข้อมูลแบบที่ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้รู้ตัว เช่น IP Address หรือ Search History ต่าง ๆ ที่เราถูกจัดเก็บเอาไว้ สิ่งที่เราเคยคลิกเข้าไป การซื้อสินค้าออนไลน์ของเรา การเปิดระบบ GPS เป็นต้น
เราในฐานะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งการใช้ติดต่อสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงิน เช่นข้อมูลบัตรเครดิต ระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง การใช้งาน WIFI ฟรีในที่สาธารณะ เราสามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวเราได้อย่างไร สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (2561) ได้แนะนำผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ว่าควรให้ความสำคัญต่อร่องรอยดิจิทัล ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1. เพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้ใช้งาน ร่องรอยดิจิทัล สามารถสะท้อนทั้งแง่บวกและแง่ลบของผู้ใช้งาน ร่องรอยดิจิทัล ที่ไม่ดีคือเรื่องราวของเราบนอินเทอร์เน็ตที่เราไม่อยากให้ใครได้มาพบการมีร่องรอยดิจิทัล ในแง่ลบอาจส่งผลต่อการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้าทำงานในบริษัทได้ ผู้ใช้ควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าต้องปกป้องชื่อเสียงตนเอง สิ่งที่โพสต์หรือแชร์ลงไปในโลกออนไลน์มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ อาจส่งผลกระทบต่อการสมัครงาน หรือการศึกษาของผู้ใช้งานได้
- เพื่อช่วยตัดสินใจว่าควรจะจัดการข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานอย่างไร การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของ
ผู้ใช้งานสามารถจำกัดขอบเขตได้ว่าใครควรจะได้เห็นบ้าง หรือใครควรจะไม่ได้เห็น เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพหรือด้านการเงิน แอปพลิเคชันบางตัวที่ติดตั้งบนโทรศัพท์ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้เช่น ภาพถ่าย เบอร์โทรศัพท์ รายชื่อผู้ติดต่อ ผู้ใช้งานควรระมัดระวังหากข้อมูลส่วนตัวนี้รั่วไหลไปยังบุคคลที่สาม การจำกัดข้อมูลส่วนตัวที่จะเปิดเผย เช่น ประวัติการทำงาน ตำแหน่ง เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน เพื่อช่วยป้องกันการสวมรอยบัญชีสังคมออนไลน์จากผู้ไม่หวังดีได้
3. เพื่อปกป้องการสูญเสียทรัพย์สิน การขโมยข้อมูลทางดิจิทัล เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงและทำให้เหยื่อสูญเสียเงินเป็นอันมาก การโพสต์ภาพของมีค่าลงสื่อสังคมออนไลน์ ก็อาจเป็นการอันตรายต่อความปลอดภัยของทรัพย์สินได้ ปกป้องการสูญเสียทรัพย์สิน ด้วยการไม่โพสต์โชว์ของมีค่า เช่น บ้าน รถ เงินทอง โฉนดที่ดินต่าง ๆ เพราะอาจมีมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางสื่อออนไลน์ได้ในที่สุด
- เพื่อรักษาอิสรภาพและความเป็นส่วนตัว ผู้ใช้งานอาจได้รับข้อความสแปมหรือการส่งอีเมลที่มี
ข้อความโฆษณาไปให้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้รับที่อาจสร้างความรำคาญจากผู้ขายสินค้าและบริการหากแชร์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันซื้อสินค้าออนไลน์ ในประเด็นความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นก็เช่นกัน การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็ก หรือการโพสต์ภาพของเด็กในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการแชร์ตำแหน่งของที่ตั้ง อาจทำให้เด็กอาจไม่ปลอดภัยจากผู้แสวงหาประโยชน์ได้การเผยแพร่ภาพผู้ป่วยขณะรักษา การถ่ายภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาล ภาพการเยี่ยมบ้านของครูประจำชั้น ภาพและข้อมูลดังกล่าวอาจจะไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ถูกถ่ายนอกจากนั้นการโพสต์ภาพหรือคลิปที่มีผลต่อความรู้สึกและสภาพจิตใจของเด็กอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิเด็กได้ การรักษาอิสรภาพและความเป็นส่วนตัว ไม่ควรแชร์ตำแหน่งที่ตั้ง หรือกดรับข้อมูลจากการส่งอีเมล แหล่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งจะทำให้เห็นแต่ข้อมูลโฆษณาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ นอกจากจะเกิดความรำคาญยังทำให้ตนเองเห็นของยั่วยวนจิตใจตลอดเวลา และเพื่อเป็นการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น และการเคารพในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุคคลในสังคม
การใช้สื่อสังคมออนไลน์และการใช้อินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ต้องระมัดระวังและรอบคอบมากยิ่งขึ้น ในการจัดการ ควบคุม กำกับตน รู้ผิดรู้ถูก และรู้เท่าทัน ในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ต จะโพสต์หรือแชร์ข้อมูลอะไร จะต้องคิดให้รอบคอบ คำนึงถึง การรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง จัดการข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ปกป้องการสูญเสียทรัพย์สิน รักษาความเป็นส่วนตัว พร้อมที่จะรับผิดชอบ หากข้อมูลหรือภาพนั้นไปละเมิดหรือทำให้บุคคลอื่นเกิดความเสียหาย เพื่อเป็นการจัดการร่องรอยทางดิจิทัลของบุคคลในยุคดิจิทัลได้อย่างชาญฉลาด
แหล่งที่มา
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน. (2561). ความฉลาดทางดิจิตอล (Digital Intelligence: DQ) และการศึกษาการรังแกกันบนโลกไซเบอร์ของวัยรุ่น. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2562, จาก http://cclickthailand.com/contents/research/A2.-final.pdf.
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน. (2562). การพัฒนาพลเมือง MILD จุดเน้นตามช่วงวัย. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2562, จาก http://cclickthailand.com/ชุดความรู้สำหรับครู/ความรู้/การพัฒนาพลเมือง-midl-จุดเน้นตามช่วงวัย.