ศาสตร์ที่ต้องรู้ เศรษฐศาสตร์ (Economics)
เศรษฐศาสตร์ คือ การศึกษาเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและกระจายทรัพยากรของมนุษย์ คำว่าเศรษฐศาสตร์ในภาษาอังกฤษคือ Economics มาจากคำว่า Oikonomia ในภาษากรีกโบราณ ซึ่งมีความหมายว่า การจัดระเบียบเรื่องในบ้าน และ การบริหารจัดการภาระหน้าที่ เดิมทีเศรษฐศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชารัฐศาสตร์ ที่เพิ่งแยกออกมาเป็นวิชาของตัวเองช่วงปลายศตวรรษที่ 19
การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ สามารถแบ่งตามเนื้อหาได้เป็น 2 สาขาหลักๆ คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหาภาค โดยเศรษฐศาสตร์จุลภาคจะมุ่งเน้นศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับบุคคล โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจนั้นๆ และบุคคลหรือหน่วยงานสำคัญๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง ส่วนเศรษฐศาสตร์มหภาค จะศึกษาเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบัน ที่มีการแข่งขันสูงและระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศทั่วโลกต่างเชื่อมโยงถึงกัน บุคลากรที่มีความรู้เชิงลึกในด้านเศรษฐศาสตร์จึงยิ่งเป็นที่ต้องการตัวขององค์กรต่างๆ อย่างมาก
เศรษฐศาสตร์เรียนวิชาเกี่ยวกับอะไรบ้าง?
จริงๆ แล้ววิชาของเศรษฐศาสตร์นั้นมีเยอะมาก และสามารถแบ่งได้เป็น 3 หมวดชัดๆ ดังนี้
– ทฤษฎี
ในส่วนนี้น้องๆ ต้องอาศัยความจำอย่างมาก เพราะถ้าจะเรียนเศรษฐศาสตร์ ‘ทฤษฎี’ คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกอย่างมีเหตุและผลที่ต้องได้รับการอ้างอิงหมด และทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์ก็มีเยอะอยู่เหมือนกัน เช่น เศรษฐศาสตร์พัฒนา กฎหมายเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ บัญชีรัฐ หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เราก็ต้องจดจำครับ อย่ากลัวว่าจะยาก เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องควบคู่ไปกับความเข้าใจ
– คำนวณ
อย่างที่บอกไปว่าเศรษฐศาสตร์ถึงจะมีตัวเลข มีการคำนวณ แต่ก็เป็นการคำนวณที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนเท่าคณิตศาสตร์ล้วนๆ ยกตัวอย่างเช่น วิชาสถิติ แคลคูลัส ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ทั้งนั้น โดยเฉพาะวิชา ‘เศรษฐมิติ’ หลายคนอาจบ่นว่ายาก เพราะว่าวิชานี้นอกจากจะต้องคำนวณแล้ว ยังต้องอาศัยทฤษฎีเข้ามาเกี่ยวข้อง
– ประยุกต์
เป็นอย่างชื่อที่บอกว่า ‘ประยุกต์’ ก็จะมีการประยุกต์ทฤษฎีเข้ากับการวิเคราะห์พวกกราฟต่างๆ นั่นเอง ตัวอย่างวิชาที่เห็นชัดๆ จะมี เศรษฐศาสตร์จุลภาค เศรษฐศาสตร์มหภาค การเงิน การคลัง เป็นต้น
งานสายตรงของเศรษฐศาสตร์มีอะไรบ้าง?
ต้องบอกไว้ว่า ‘เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพสายตรง’ เหมือนพวกแพทย์ ครู พยาบาล แต่สายงานของคนจบเศรษฐศาสตร์นั้นก็กว้างมากๆ และสามารถทำได้หลายอย่าง ถ้าต้องการทำงานที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์โดยตรง จะมีอาชีพต่างๆ ที่สามารถทำได้ เช่น เศรษฐกร นายธนาคาร พนักงานธนาคาร โบรกเกอร์วิเคราะห์หุ้น นักวิเคราะห์สินเชื่อ ตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ นักลงทุน นักวิเคราะห์ข้อมูล เจ้าหน้าที่บริหารกองทุน ที่ปรึกษาด้านการเงิน นักวิเคราะห์ตลาด นักวางแผนการตลาด นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ของบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น
Author: Tuemaster Admin
ทีมงานจากเว็บไซต์ติวกวดวิชาออนไลน์ที่ดีที่สุด !! สำหรับ การเรียนออนไลน์ ม.ปลาย (ม.4, ม.5, ม.6)