ทะเลไทย
คำจำกัดความของทะเลและทรัพยากรทางทะเล
ทะเล (sea) หมายถึง มวลน้ำเค็มที่ถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดินบางส่วนหรือทั้งหมด ทะเลเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างน้ำเค็มในมหาสมุทรต่าง ๆ โดยขอบเขตของทะเลจะมีขนาดเล็กกว่ามหาสมุทรและใหญ่กว่าทะเลสาบ (lake) ทะเลทุกแห่งถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดินหรือต่อเนื่องกับแผ่นดินยกเว้นทะเลซากัสโซซึ่งถูกล้อมรอบด้วยกระแสน้ำที่หมุนเป็นวงในมหาสมุทรแอตแลนติก (North Atlantic gyre) แต่ United Nations Convention on the Law of the Sea ใช้คำว่าทะเล (sea) ในความหมายของมหาสมุทร (ocean) ในขณะที่สถาบันสมุทรศาสตร์และภูมิอากาศแห่งชาติ (National Oceanographic and Atmospheric Association) ของสหรัฐอเมริกา ถือว่าในทางภูมิศาสตร์แล้วทะเลเป็นส่วนต่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรกับแผ่นดิน ทะเลจึงเป็นส่วนขอบของมหาสมุทรและมีด้านหนึ่งติดต่อกับแผ่นดิน (NOAA)
ทรัพยากรทางทะเล (marine resources) หมายถึง สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของพืช สัตว์และมนุษย์ที่ได้จากทะเล สิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลยกเว้นมนุษย์ นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดที่อาศัยอยู่บนบก (https://www.reference. com/science) ทรัพยากรที่จำเป็นที่สุดที่มนุษย์ต้องการจากสิ่งแวดล้อม คือ อาหาร ทะเลและมหาสมุทรเป็นแหล่งอาหารโปรตีนปริมาณสูงที่ได้จากทรัพยากรมีชีวิต (marine living resources) เช่น ปลา สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังและสาหร่ายทะเล สิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารเหล่านี้มีการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากทะเลที่เป็นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้มนุษย์ยังเสาะแสวงหาทรัพยากรที่ไม่มีชีวิตในทะเล เช่น แร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต ทรัพยากรแร่ธาตุและเชื้อเพลิงในทะเลที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์นี้ต่างมีต้นกำเนิดจากกระบวนการทางกายภาพรวมถึงกระบวนการทางชีวภาพที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตในทะเลทั้งสิ้น
อาณาเขตทางทะเลของไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณที่เป็นคาบสมุทรอินโดจีนและส่วนภาคใต้ของประเทศไทยอยู่บนส่วนของคาบสมุทรมลายู ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลสองด้าน ชายฝั่งทะเลของไทยอยู่ในพื้นที่ 23 จังหวัด มีความยาวชายฝั่งกว่า 3,151 กิโลเมตร ประกอบด้วยชายฝั่งด้านตะวันออกทางฝั่งอ่าวไทยซึ่งเป็นส่วนในสุดของมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนชายฝั่งด้านตะวันตกอยู่ติดกับทะเลอันดามันซึ่งรวมถึงส่วนเหนือของช่องแคบมะละกาของมหาสมุทรอินเดีย อาณาเขตทางทะเล (maritime zone) ของไทยที่มีพื้นที่กว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าสองในสามของอาณาเขตบนบกที่มีพื้นที่ประมาณ 513,000 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตทะเลไทยแบ่งออกเป็น 6 เขต ประกอบด้วย น่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไหล่ทวีปและทะเลหลวง
สัณฐานวิทยาและสมุทรศาสตร์กายภาพของอ่าวไทย ทะเลอันดามันและช่องแคบมะละกาตอนเหนือ
ทะเลไทยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ อ่าวไทย (Gulf of Thailand) และทะเลอันดามัน (Andaman Sea) อ่าวไทยเป็นน่านน้ำภายในที่อยู่ส่วนในสุดของทะเลจีนใต้และตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเส้นรุ้ง (ละติจูด) ที่ 6° ถึง 13.5° เหนือ เส้นแวง (ลองจิจูด) ที่ 99° ถึง 105° ตะวันออก มีลักษณะเป็นอ่าวกึ่งปิดล้อมรอบด้วยชายฝั่งของคาบสมุทรมลายูทางตะวันตกและแผ่นดินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวไทยเป็นช่องเปิดระหว่างปลายแหลมญวน ประเทศเวียดนามและเมืองโกตาบารูของประเทศมาเลเซีย ติดต่อกับทะเลจีนใต้ มีความกว้างประมาณ 380 กิโลเมตร ความยาวประมาณ 810 กิโลเมตร และส่วนที่กว้างที่สุด มีความกว้าง 540 กิโลเมตร อยู่ลึกเข้ามาในอ่าว (Robinson 1974) พื้นท้องทะเลอ่าวไทยมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ความลึกเฉลี่ยประมาณ 44 เมตร บริเวณส่วนกลางของอ่าวที่ลึกที่สุดมีความลึกประมาณ 86 เมตร (รูปที่ 1) ตอนกลางอ่าวมีความลึกประมาณ 60 เมตร และมีส่วนที่แผ่เป็นร่องน้ำแคบขึ้นไปทางเหนือเป็นลักษณะของ drowned river valley ที่เคยโผล่พ้นระดับน้ำทะเลในยุคน้ำแข็งและสามารถเห็นร่องรอยแม่น้ำโบราณต่อกับแม่น้ำบนแผ่นดินปัจจุบัน
อ่าวไทยติดต่อกับทะเลจีนใต้โดยมีสันเขาใต้น้ำ 2 แนว ที่วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้เป็นตัวกั้น สันเขาใต้น้ำฝั่งตะวันตกของอ่าววางตัวตามแนวยาวจากโกตาบารูทางใต้ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร มีความลึกประมาณ 50 เมตร ส่วนสันเขาทางฝั่งตะวันออกมีความลึกประมาณ 25 เมตร เป็นแนวจากแหลมคาเมาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร ระหว่างสันเขาทั้งสองแนวเป็นร่องน้ำลึกมีความลึก (sill depth) 67 เมตร สันเขาใต้น้ำนี้เป็นตัวควบคุมการไหลของน้ำระดับล่างในอ่าวไทย ลักษณะชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือจะตื้นและเรียบกว่าชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ (รูปที่ 2)
อ่าวไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 270,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นปริมาตรของอ่าว 12,510 ลูกบาศก์กิโลเมตร (Robinson 1974) ลักษณะภูมิสัณฐานของพื้นท้องทะเลอ่าวไทยที่เป็นแอ่งกระทะนั้นเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนในแนวเหนือใต้ ทำให้เกิดเป็นแอ่งขนาดใหญ่ คือ แอ่งด้านตะวันตกและแอ่งด้านตะวันออก (รูปที่ 2) หินฐานที่รองรับแอ่งในอ่าวไทยเป็นหินที่เกิดก่อนสมัยอีโอซีน สันนิษฐานว่าประกอบด้วยหินแปร หินอัคนี และหินตะกอน (สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล 2555)
ที่มา:
ปราโมทย์ โศจิศุภร, ศุภิชัย ตั้งใจตรง และสมมาตร เนียมนิล.2546. Eye on the Ocean หน่วยการเรียนรู้ที่ 1: ฟิสิกส์ในทะเล. หน้า 119-120. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
ส่วนธรณีวิทยาทางทะเล 2555 ธรณีวิทยากายภาพพื้นทะเลอ่าวไทยตอนบน รายงานวิชาการ เลขที่ สทธ. 9/2555 ส่วนธรณีวิทยาทางทะเล สำนักเทคโนโลยีธรณี www.geothai.net/gulf-of-thailand [2016, Oct 8]
สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล 2555 ธรณีวิทยาอ่าวไทย บทความ http://www.geothai.net/gulf-of-thailand
Brown, B. 2007. Coral reefs of the Andaman Sea: An integrated perspective. In: Gibson, R.N., Atkinson, R.J.A. and Gordon, J.D.M. (eds.) Oceanography and Marine Biology: An Annual Review. Taylor & Francis. 45: 173-197.
Rizal, S. et al., 2012. General circulation in the Malacca Strait and Andaman Sea: A numerical model study. American Journal of Environmental Science. 8(5):479-488.
Robinson, M.K., 1974. The physical oceanography of the Gulf of Thailand. NAGA Report.
Sojisuporn, P., Morimoto, A. and Yanagi, T. 2010. Seasonal variation of sea surface current in the Gulf of Thailand. Coastal Marine Science 34(1): 91-102.
Wattayakorn, G. 2006. Environmental Issues in the Gulf of Thailand. In: Wolanski, E. (ed.) The Environment in Asia Pacific Harbours. Springer. The Netherlands. pp: 249-259.
Wattayakorn, G. and Jaiboon, P. 2014. An assessment of biogeochemical cycles of nutrients in the Inner Gulf of Thailand. Eur. Chem. Bull. 3(1): 50-54.