เดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่หลายคนจะได้ออกไปเที่ยว หรือกลับบ้านไปพบกับครอบครัวช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ ยังเป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปีแล้ว จนมีความเสี่ยงเกิดอาการป่วยจากอาการที่ร้อนและแห้งจัด เช่น อาการเพลียแดด ตะคริว ผิวหนังไหม้ ฯลฯ
1 ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ ใน 1 วันได้สัมผัสความร้อนจากแดดโดยตรง
แม้ในขณะที่เราไม่ได้สัมผัสความร้อนจากแดดโดยตรง แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งกว่าปกติ จึงแนะนำให้เพิ่มการดื่มน้ำในแต่ละวัน เช่น หากปกติดื่มวันละ 1.5 ลิตร ก็ควรเพิ่มเป็น 2 ลิตร เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับของกิจกรรมและเวลาที่ใช้ในพื้นที่กลางแจ้ง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการสูญเสียเหงื่อ
2 ดื่มน้ำบ่อยๆ ทีละน้อยๆ สามารถดูดซึมน้ำไปใช้ได้อย่างเต็มที่
เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมน้ำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ควรดื่มน้ำครั้งละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ แทนการดื่มครั้งละมากๆ หลังจากไม่ได้ดื่มเป็นเวลานาน นอกจากจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ทันแล้ว ยังช่วยลดการปัสวะบ่อยจากการดื่มน้ำจำนวนมากอีกด้วย
3 ทานผลไม้ชนิดเย็นที่เนื้อเยื่อมีความชุ่มชื่นสูง
การทานผลไม้ชนิดเย็นที่เนื้อเยื่อมีความชุ่มชื่นสูง เช่น แตงโม แอปเปิล แคนตาลูป ส้ม องุ่น ฯลฯ จะช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น เพราะเป็นการเติมน้ำเข้าสู่ร่างกายไปพร้อมกับการเติมวิตามินและสารอาหารที่มีประโยชน์ในผลไม้เหล่านั้น
4 เลือกเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าบางหรือโปร่ง ซึ่งจะสามารถระบายอากาศได้ดีกว่าเนื้อผ้าที่มีความทึบสูง นอกจากจะช่วยให้รู้สึกสบายตัวและลดความเหนอะหนะแล้ว ยังช่วยลดการกักเก็บความร้อนในร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียน้ำเพิ่มได้
5 หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มเย็นจัด
อากาศร้อนๆ แบบนี้ หลายคนจะรู้สึกดีมาก ถ้าได้ดื่มน้ำเย็นๆ ที่พึ่งออกจากช่องแช่แข็ง หรือใส่น้ำแข็งจำนวนมาก แต่นั่นคือพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากร่างกายมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 37 องศาเซลเซียส การบริโภคของเย็นจำนวนมาก จะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และดูดซึมน้ำได้ไม่ดี
6 ทาครีมกันแดดก่อนตากแดด
การทาครีมกันแดด ที่มี SPF 15 ขึ้นไป ไม่เพียงแค่ลดการเปลี่ยนสีของผิวเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงจากผิวหนังไหม้ และมะเร็งผิวหนังในระยะยาว ทั้งนี้ ความเข้มข้น หรือความถี่ในการทา ขึ้นอยู่กับระดับที่เราต้องปะทะกับแดด แต่แนะนำว่า ควรทาทุก 2 ชั่วโมง
อากาศร้อนเป็นอย่างไร ?
กรมอุตุนิยมวิทยาได้ระบุถึงเกณฑ์การวัดอากาศร้อนไว้ที่ 35.0-39.9 องศาเซลเซียส และหากอุณหภูมิขึ้นสูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะจัดว่าเป็นอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งบางครั้งตัวเลขบนเทอร์โมมิเตอร์ก็ไม่สามารถบอกความร้อนที่แท้จริงได้ แต่ต้องดูความชื้นในอากาศควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากร่างกายจะระบายความร้อนได้ไม่ดีเมื่อความชื้นในอากาศสูง เช่น หากอุณหภูมิที่อ่านได้คือ 29 องศาเซลเซียส แต่ความชื้นในอากาศเป็นศูนย์ จะทำให้รู้สึกว่าอุณหภูมิอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิที่อ่านได้คือ 29 องศาเซลเซียส และมีความชื้นในอากาศ 80 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้รู้สึกว่าอุณหภูมิอยู่ที่ 36 องศาเซลเซียส เป็นต้น
ผลกระทบจากอากาศร้อน
การเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายส่งเลือดไปเลี้ยงตามผิวหนังเพื่อคลายความร้อน ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมอง กล้ามเนื้อ รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ จึงมีผลต่อความแข็งแรงของร่างกายและสภาพจิตใจ ทั้งยังทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ ดังนี้
- ตะคริวแดด มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักจนทำให้เหงื่อออกมาก รวมถึงผู้ที่เผชิญกับอากาศร้อนประมาณ 32-40 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายสูญเสียของเหลวและเกลือแร่ในปริมาณมาก โดยเฉพาะโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณน่อง ต้นขา และไหล่ มีอาการหดเกร็งหรือเป็นตะคริวได้
- อาการเพลียแดด เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียเหงื่อปริมาณมาก อย่างผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ที่เผชิญกับสภาพอากาศร้อนประมาณ 40-54 องศาเซลเซียส ซึ่งการสูญเสียของเหลวในร่างกายในปริมาณมากจะส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง ทำให้รู้สึกวิงเวียน สับสน เมื่อยล้า ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ผิวซีด เป็นลม หรือมีการปวดบีบที่กล้ามเนื้อ
- โรคลมแดด เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไปจากการเผชิญกับอาการร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 54 องศาเซลเซียสขึ้นไปโดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ร่างกายไม่ขับเหงื่อ ผิวแดง ผิวแห้งและร้อน แต่หากเป็นโรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลังกาย ผิวจะมีความชื้นอยู่เล็กน้อย และจะมีอาการ เช่น เป็นตะคริว หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะตุบ ๆ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม สับสนมึนงง กระสับกระส่าย หงุดหงิด พูดไม่ชัด มีอาการเพ้อ ไม่สามารถทรงตัวได้ มีพฤติกรรมหรือการรับรู้สติเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ทั้งนี้ อาการของโรคลมแดดเกิดขึ้นได้ในทันทีโดยไม่มีสัญญาณเตือน และอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรง และอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
- ผดร้อน อากาศร้อนชื้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ต่อมเหงื่ออุดตันจนร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อออกมาทางผิวหนังได้ตามปกติ จนทำให้เกิดการอักเสบและมีผื่นคัน โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ขาหนีบ รวมถึงผิวหนังที่มีการเสียดสีกับเสื้อผ้า หากผดร้อนมีอาการรุนแรง อาจทำให้แสบตามผิวหนัง ผิวบวมแดง เกิดการติดเชื้อร่วมกับมีหนอง และอาจมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ คอ หรือขาหนีบร่วมด้วย
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.origin.co.th
และ https://www.pobpad.com