การดำเนินชีวิตในยุคโควิด มีอะไรที่เสี่ยงต่อสุขภาพจิตบ้าง
ตอนนี้มีหลายสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต อันดับแรกคือ ความอันตรายของโรคระบาดทำให้เกิดความกลัวขึ้นในตัวเรา การที่เรากลัวและกังวลไม่ได้แปลว่าผิดปกติ แต่แน่นอนว่า ถ้าเรากลัวหรือเครียดนานๆ อย่างต่อเนื่องจะมีผลต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ร่างกายจะทำงานหนักขึ้น และอย่างที่หลายคนบอกว่า สถานการณ์ตอนนี้อาจกลายเป็น new normal เป็นชีวิตที่เปลี่ยนไปในระยะยาว ความกลัวและความกังวลนี้ก็อาจเกิดขึ้นในระยะยาวด้วย
การที่เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตก็เป็นความเครียดอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะเราออกจากความเคยชินและความมั่นคงเดิม เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคมมากขึ้น ทำให้เราไม่ได้เจอคนที่ผูกพันด้วยบ่อยเท่าเดิม เราต้องอยู่กับที่ ไม่ได้สัมผัสธรรมชาติ แสง สี เสียง หรือสภาพแวดล้อมที่เราเคยชิน หรือการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบอย่างชัดเจนคือเรื่องการงาน ปากท้อง เศรษฐกิจ จะเรียกว่าเป็นปัจจัยสร้างความเครียดหลักๆ ในสังคมเราเลยก็ได้ และในระยะยาวอาจทำให้สุขภาพจิตของผู้คนไม่ดี
อีกประเด็นที่เป็นไปได้คือ การที่คนต้องอยู่บ้านกับสมาชิกหลายคนในพื้นที่จำกัดอาจทำให้เสียพื้นที่ส่วนตัว และทำให้เราได้เห็นมุมต่างๆ ของคนที่เราอยู่ด้วย ซึ่งอาจทำให้เราหงุดหงิด ไม่สบายใจ เช่น เดิมทีเราออกไปทำงาน ไม่ค่อยได้เห็นว่าพี่น้องเราที่อยู่ในบ้านเดียวกันเขามีพฤติกรรมชอบรื้อของ ซึ่งเราไม่ชอบเลย ก็อาจจะเกิดความเครียด แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นโอกาสสำหรับคนที่อยากจะปรับเข้าหากัน จากที่ต่างคนต่างใช้ชีวิต เราอาจมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับคนใกล้ตัวที่กลายเป็นคนไกลตัว
ผมแบ่งการรับมือกับปัญหาเป็นสองส่วนคือ การรับมือกับปัจจัยภายนอก และการรับมือปัจจัยภายใน ซึ่งสองอย่างนี้รับมือต่างกัน การรับมือกับปัจจัยภายนอก เช่น ถ้าเราต้องอยู่กับคนในบ้านมากขึ้น มีอะไรไหมที่เราจะปรับได้ในสิ่งแวดล้อมนี้ เราอาจจัดแจงพื้นที่ส่วนตัวของเรา และสื่อสารกับคนรอบข้างว่าเราต้องการแบบนี้ จะอยู่ร่วมกันยังไง การรับมือกับภายในก็เช่น ความคาดหวัง อารมณ์ นิสัยใจคอที่อยู่ข้างในเรา และเราเป็นผู้ที่รับผิดชอบมันได้ดีที่สุด เราต้องลองสังเกตว่าในสถานการณ์ต่างๆ เราเกิดอารมณ์ ความรู้สึก หรือความคิดอะไร แล้วตัวเราเองจะจัดการกับสิ่งที่เกิดภายในได้อย่างไรบ้าง
ทำอย่างไรให้ WFH ไม่ใช่ Work from Hell
การทำงานจากที่บ้านสำหรับบางคนอาจจะไม่เป็นปัญหาเลย ขณะที่บางคนทำงานไม่ได้ ไม่ว่ามันเป็นปัญหาหรือไม่ แน่นอนว่ามันมีการปรับตัว และมีบางอย่างเปลี่ยนแปลง บางอย่างก็ควบคุมได้ บางอย่างก็ควบคุมไม่ได้ เช่น สถานการณ์โควิดเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนรู้สึกว่าควบคุมไม่ค่อยได้ ไม่รู้ว่าตกลงแล้วมันจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน เราต้องปฏิบัติตัวยังไงถึงจะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้น นอกจากดูว่ามีปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในอะไรบ้าง เราต้องดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในความควบคุมของเราไหม หรือเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่น เราเป็นลูกจ้าง เจ้านายบอกมาว่าให้ทำงานที่บ้าน หรือบางคนอาจจะถูกบังคับให้ยังทำงานที่ออฟฟิศอยู่ ถ้าเรารู้แล้วว่ามันอยู่นอกเหนือการควบคุม ผมแนะนำว่าให้เราลองกลับมาดูว่า แล้วอะไรที่อยู่ในความควบคุมของเราได้บ้าง เช่น เราจะวางแผนการทำงานยังไง จะจัดวางอะไรในพื้นที่ทำงานให้เราทำงานได้คล่องตัวที่สุด ดูแลตัวเองได้มากที่สุด
วิกฤตนี้ทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ว่าจะอยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันได้ยังไง หลายครั้งเหตุผลที่เราเครียดไม่ใช่แค่สถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้อย่างเดียว แต่เป็นเพราะความคาดหวังของเราด้วยเหมือนกัน เราคาดหวังว่ามันควรจะต้องทำนายได้ ควรจะต้องรู้สิว่าจะเป็นยังไงต่อ ซึ่งเป็นธรรมดามาก เพราะเรากำลังเป็นห่วงแและดูแลตัวเอง แต่ถ้าเรายึดกับความคาดหวังนี้มากเกินไป จะคานกับธรรมชาติที่ไม่แน่นอน วิกฤตนี้ยังต้องค่อยๆ ติดตามตอนต่อไป และค่อยๆ ปรับตัวไปทีละตอน ถ้าเราค่อยๆ วางความคาดหวังที่จะรู้ให้แน่ชัดลงบ้าง จิตใจเราจะสบายจากมันมากขึ้น และจะค่อยๆ เชื่อว่า ตัวเราก็มีความสามารถที่จะปรับตัวได้
จัดการกับความรุนแรงในครอบครัวเมื่อต้องอยู่บ้านอย่างไร
เรื่องของความรุนแรง ความก้าวร้าว และความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นในครอบครัวมีหลายระดับ ในขณะเดียวกันการรับมือในระดับต่างๆ ก็จะแตกต่างกันไป ในระดับที่ไม่ได้รุนแรงมาก เช่น ครอบครัวที่ขัดแย้งกันอยู่แล้ว มีปากเสียงกันบ้าง แต่ไม่ถึงกับใช้ความรุนแรง ตรงนี้อาจต้องปรับเข้าหากัน เรื่องของครอบครัว ไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว การปรับอาจต้องใช้ความร่วมมือของคนอื่นๆ ในครอบครัว แต่อย่างน้อยมันเริ่มต้นที่ตัวเราก่อนได้ อาจจะเริ่มต้นจากการสังเกตตัวเราว่า เวลาอยู่ในครอบครัวเรามีความคิด มีอารมณ์ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้น หรือมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นในครอบครัวบ้าง พอเรารู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ตัวเอง จะรับมือและจัดการอย่างมีสติมากขึ้น พูดง่ายๆ คือเราจะไม่เอาความคิด หรือความหงุดหงิดไปลงกับคนอื่นหมด และเราจะไม่ทำอะไรที่เราไม่อยากทำ ในขณะเดียวกันถ้าเราสามารถสื่อสารกับคนอื่นในครอบครัวได้ ก็จะเริ่มจูนเข้าหากันได้มากขึ้น
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.the101.world/karn-jamroonroj-interview