ประวัติวันแม่แห่งชาติ
วันแม่แห่งชาติเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของคนไทย เพราะเป็นวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยเริ่มกำหนดถือวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เป็น “วันแม่แห่งชาติ” เป็นปีแรก ประเทศไทยมีประกาศจัดงานวันแม่แห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงพระคุณของมารดา โดยปรับเปลี่ยนวันที่จัดงานมาหลายครั้ง ดังนี้
- 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 จัดงานที่สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข
- 15 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยกระทรวงวัฒนธรรม
- 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 โดยสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ประกาศใช้วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เป็นวันแม่แห่งชาติ ซึ่งเป็นวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
กิจกรรมวันแม่แห่งชาติ
วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ของทุกปี ลูกๆ จะได้แสดงความกตัญญูกตเวที ด้วยการนำดอกมะลิ มากราบขอพรจากคุณแม่ และมักอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อรับประทานอาหารกับคุณแม่ นอกจากนี้สถานที่ราชการและเอกชนยังจัดตกแต่งประดับธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และจัดนิทรรศการ รวมถึงกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ อาทิ
- ประดับผ้าระบายสีฟ้าร่วมกับผ้าระบายสีขาวตามอาคาร สถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน ตกแต่งซุ้มและประดับไฟตามสถานที่และถนนสายหลัก
- จัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาพร้อมเครื่องราชสักการะ และจัดที่สําหรับลงนามถวายพระพรชัยมงคล รวมทั้ง ประดับธงชาติไทยคู่กับธงอักษรพระนามาภิไธย ส.ก.
- จัดทํา คําถวายพระพรชัยมงคลบนหน้าหลักของเว็บไซต์ของหน่วยงาน
- จัดสถานที่ลงนามถวายพระพรชัย ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดที่เหมาะสมตามมาตรการ Social Distancing เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
ที่มา : สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, www.thaigov.go.th
และ https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1907236