จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย บอกว่า ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2019 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน สาเหตุหลักที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามาจากพื้นฐานของประเทศไทยที่เกิดดุลการค้าต่อเนื่องทำให้เห็นเงินทุนไหลเข้ามากกว่าเงินทุนไหลออก โดยแบ่งเป็น 3 ปัจจัย ได้แก่
- สกุลเงินบาทของไทยมีความผันผวนน้อยกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น สกุลเงินในอาเซียนมีอัตราความผันผวนราว 8-10% ขณะที่ค่าเงินบาทอัตราความผันผวนอยู่ที่ 4-5% ขณะเดียวกันได้รับผลกระทบจาก Trade war น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะ ไทยส่งออกไปจีนในอัตราส่วนเดียวกับที่ส่งออกไปอาเซียน
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลค่าเงินของประเทศบ่อย อาจเป็นเพราะคุ้นเคยที่ไทยเป็นประเทศการส่งออกเห็นได้ชัดจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
- ปี 2019 การเมืองไทยปรับตัวดีขึ้น และไทยได้รับการเพิ่มน้ำหนักลงทุนจากดัชนี MSCI ทำให้เงินทุนไหลเข้ามากขึ้น จากที่ 2-3 ปีที่ผ่านมาต่างชาติเอาเงินออกจากไทยกลับไปต่างประเทศ สวนทางกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่นักลงทุนส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนแล้วอย่างต่อเนื่อง จึงเห็น Cycle ของไทยที่ตรงข้ามกับประเทศอื่นๆ อะไรทำให้เงินบาทแข็งมาหลายปี? เมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้บริหารแบงก์ชาติให้สัมภาษณ์ว่า เงินบาทมีสัญญาณแข็งค่าเกินพื้นฐานเศรษฐกิจไทยไปมาก เป็นอาการที่กำลังบอกว่าประเทศไทยมีปัญหาอยู่ข้างใน เพราะสาเหตุหลักเกิดจากปัจจัยในประเทศเอง คือ
(1) ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง ที่ผ่านมาไทยเราส่งออกได้เยอะกว่านำเข้า รายได้เงินตราต่างประเทศจึงไหลเข้าเยอะกว่าที่จ่ายออกไป ทำให้คนเอาเงินตราต่างประเทศมาขอแลกเป็นเงินบาทเยอะ เงินบาทจึงแพงขึ้น (แข็งค่าขึ้น) เรื่องนี้อาจฟังดูดีถ้าไม่ได้เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยนำเข้าน้อยไป โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนและเทคโนโลยีเพื่อไปผลิตหรือลงทุนในประเทศต่อ
(2) กลไกการผ่องถ่ายรายได้เงินตราต่างประเทศที่เหลือใช้ออกไปหาประโยชน์ในต่างประเทศยังไม่ดี หลายประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงเหมือนไทย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ กลับไม่มีปัญหาค่าเงินแข็งให้กังวลมากนัก เพราะภาคธุรกิจ ภาครัฐ กองทุนเงินออมระยะยาว และประชาชนต้องการแลกเงินตราต่างประเทศส่วนเกินนี้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งที่เป็นการลงทุนผลิตสินค้าจ้างงานจริง และการลงทุนในตราสารทางการเงินต่างๆ
ด้านปัจจัยต่างประเทศ คือ กระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาซื้อหลักทรัพย์ไทยเป็นบางช่วงและการคาดการณ์เงินบาทแข็งค่าของนักเก็งกำไร อาจกดดันให้เงินบาทแข็งค่าได้ในบางจังหวะ ขึ้นกับว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกน่าลงทุนกว่าหรือไม่ และนักลงทุนในตลาดการเงินโลกมองสินทรัพย์ไทยเป็นแหล่งพักเงินเพื่อหลบความเสี่ยงจากการลงทุนในโลกหรือไม่
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://brandinside.asia/
และ https://www.bot.or.th/