เริ่มการเตรียมตัวสำหรับเริ่มออกกำลังกายถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ฝึกตั้งเป้าหมายสำหรับออกกำลังกายได้อย่างชัดเจน กระตุ้นตัวเองให้ออกกำลังกายอยู่เสมอ อีกทั้งยังออกกำลังกายได้อย่างถูกต้องและส่งผลดีต่อสุขภาพ ผู้ฝึกลองเริ่มต้นออกกำลังกาย ดังนี้
-
ระบุกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย ผู้ฝึกที่เริ่มต้นออกกำลังกายควรเริ่มสำรวจว่าตนเองออกกำลังกายสัปดาห์ละกี่วัน ใช้เวลาในการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายแต่ละครั้งนานเท่าไหร่ รวมทั้งระบุกิจกรรมที่กระตุ้นให้ร่างกายเคลื่อนไหว การระบุกิจวัตรดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ฝึกรู้ว่าตนเองควรเริ่มต้นออกกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างไร อีกทั้งยังเป็นข้อมูลในการวางแผนสำหรับออกกำลังกายต่อไปด้วย
-
ตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกาย การตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกายจะช่วยให้ผู้ฝึกสามารถออกกำลังได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น เบื้องต้นควรพิจารณาว่าจะตั้งเป้าหมายออกกำลังกายในระยะสั้นหรือระยะยาว ตั้งเป้าที่ทำได้และเห็นผล รวมทั้งหมั่นตรวจสอบเป้าหมายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ การตั้งเป้าหมายระยะสั้นจะช่วยให้ผู้ฝึกเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย ผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกายอาจสอดแทรกกิจกรรมดังกล่าวเข้าไปในกิจวัตรที่จำเป็นต้องทำในแต่ละวัน ส่วนผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้วอาจเพิ่มระดับของการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย เช่น เปลี่ยนจากเดินเร็วเป็นวิ่งจ็อกกิ้ง หรือเพิ่มน้ำหนักดัมเบลเพื่อฝึกกล้ามเนื้อ การทำตามเป้าหมายระยะสั้นได้สำเร็จจะช่วยให้ผู้ฝึกมั่นใจและเริ่มตั้งเป้าหมายระยะยาว ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายระยะยาวควรตั้งเป้าไว้ที่ 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี นับจากที่ช่วงเวลาที่ระบุเป้าหมาย
-
เขียนแผนการออกกำลังกาย แผนการออกกำลังกายควรมีพื้นฐานมาจากเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเลือกประเภทกิจกรรมและระบุเหตุผล ช่วงเวลา รวมทั้งสถานที่ที่ต้องทำกิจกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ ควรเลือกกิจกรรมที่ผู้ฝึกจะทำได้จริง รวมทั้งหมั่นสำรวจว่าบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ ผู้ฝึกควรปฏิบัติกิจกรรมหรือออกกำลังที่รู้สึกสนุก เพื่อฝึกตัวเองให้ออกกำลังหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
-
ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการออกกำลังกาย การปรับระดับความหนักของกิจกรรมหรือการออกกำลังกายถือเป็นเรื่องที่ผู้ฝึกควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งมักทำในกรณีที่ผู้ฝึกบางรายมีปัญหาสุขภาพ หรือไม่สามารถเริ่มออกกำลังกายระดับที่หนักได้ โดยผู้ฝึกควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
-
กิจกรรมที่ควรเลี่ยงและผลกระทบของอาการป่วยหรือการผ่าตัดที่ส่งผลต่อการออกกำลังกาย
-
อาการป่วยบางอย่างที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ เช่น เจ็บหรือแน่นหน้าอก ปวดข้อต่อ เวียนศีรษะ หรือหายใจไม่สุด ผู้ฝึกควรพักร่างกายจนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาอาการดังกล่าว
-
ผลกระทบจากปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ส่งผลต่อการออกกำลังกาย เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบอาจต้องเลี่ยงออกกำลังกายบางประเภท
-
ปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ และอาจส่งผลต่อกิจกรรมที่ทำอยู่ เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตหรือเบาหวานจำเป็นต้องรู้วิธีออกกำลังกายที่ปลอดภัยกับตัวเอง
-
-
เลือกรองเท้าสำหรับออกกำลังกาย รองเท้าออกกำลังกายนับเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้ฝึกควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับกิจกรรมแต่ละอย่าง เช่น เดิน วิ่ง เต้น โบว์ลิ่ง หรือเทนนิส โดยเลือกรองเท้าพื้นเรียบ ไม่ทำให้ลื่น รองรับและพอดีกับเท้าของตนเอง รวมทั้งหมั่นตรวจสภาพรองเท้าเป็นประจำ หากรองเท้าสึกหรือรู้สึกปวดเท้า หน้าแข้ง เข่า หรือสะโพก หลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่
วิธีทดสอบสมรรถภาพการออกกำลังกาย
ผู้ฝึกที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรทดสอบสมรรถภาพการออกกำลังกายของตนเอง เพื่อดูว่าควรเพิ่มระดับการออกกำลังกายต่อไปหรือไม่ วิธีทดสอบสมรรถภาพแบ่งออกตามประเภทการออกกำลังกาย ดังนี้
-
วิธีทดสอบสมรรถภาพความทนทาน ผู้ฝึกสามารถทดสอบความทนทานของร่างกายโดยจับเวลาว่าสามารถเคลื่อนไหวร่างกายในระยะทางที่กำหนดได้เท่าไหร่ เช่น กำหนดระยะทางจากบ้านไปโรงเรียน แล้วทดสอบเดินว่าใช้เวลาเดินภายในระยะทางที่กำหนดได้เท่าไหร่ หากใช้เวลาน้อยลง ก็หมายถึงสมรรถภาพความทนทานเพิ่มขึ้น ผู้ฝึกควรทดสอบสมรรถภาพความทนทานทุกเดือน
-
วิธีทดสอบสมรรถภาพความแข็งแรง การทดสอบความแข็งแรงของร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ สมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกายส่วนบน และสมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกายส่วนล่าง ดังนี้
-
สมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกายส่วนบน ผู้ฝึกทดสอบนับจำนวนครั้งที่สามารถทำได้ในการทำท่าบริหารกล้ามเนื้อแขน (Arm Curls) ที่ถูกต้องและปลอดภัยภายใน 2 นาที ผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกายอาจหยุดพักก่อนครบ 2 นาที ผู้ฝึกควรทดสอบอีกครั้งหลังผ่านไป 1 เดือน โดยควรทำให้ได้จำนวนครั้งที่มากขึ้น
-
สมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกายส่วนล่าง ผู้ฝึกทดสอบนับจำนวนครั้งที่สามารถทำได้ในการลุกยืนจากเก้าอี้ภายใน 2 นาที และทดสอบอีกครั้งหลังผ่านไป 1 เดือน โดยควรทำให้ได้จำนวนครั้งที่มากขึ้น
-
-
วิธีทดสอบสมรรถภาพความยืดหยุ่น ผู้ฝึกนั่งบนขอบที่นั่งของเก้าอี้ ยืดขาออกมาข้างหนึ่ง โดยให้ส้นเท้าแตะพื้นและปลายเท้าชี้ขึ้นด้านบน งอขาอีกข้างให้เท้าราบไปบนพื้น ค่อย ๆ ยื่นมือเอื้อมไปแตะปลายเท้าของขาข้างที่ยืดออก พยายามยืดจนรู้สึกตึง และทดสอบอีกครั้งเมื่อผ่านไป 1 เดือน เพื่อดูว่าสามารถเอื้อมไปแตะปลายเท้าได้มากน้อยแค่ไหน
-
วิธีทดสอบสมรรถภาพการทรงตัว ผู้ฝึกยืนขาเดียวและจับเวลา โดยห้ามจับหรือยึดสิ่งของเพื่อไม่ให้ล้ม ส่วนผู้ที่ยังทรงตัวได้ไม่ดี สามารถหาที่ยึดไว้ได้ จากนั้นให้สลับยืนขาเดียวอีกข้าง พร้อมบันทึกเวลาที่ทำได้ เพื่อนำมาเปรียบเทียบการทรงตัวของขาทั้งสองข้าง รวมทั้งทดสอบอีกครั้งภายใน 1 เดือน เพื่อดูว่าสามารถยืนขาเดียวได้นานกว่าเดิมหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้ฝึกอาจทดสอบสมรรถภาพการออกกำลังกายของตนเองได้โดยสังเกตสัญญาณหรืออาการต่าง ๆ ของร่างกายที่มีพัฒนาการ ดังนี้
-
มีพละกำลังมาก
-
อารมณ์และสุขภาพจิตดี
-
ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ง่าย
-
ขึ้นบันไดแล้วไม่เหนื่อยเร็ว
-
ขึ้นรถลงรถสะดวก
-
นอนหลับสนิท
-
ไม่ได้รับบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวร่างกาย
-
อาการป่วยดีขึ้น