อาหารไทยขึ้นชื่อว่ามีรสชาติที่จัดจ้าน ทั้งเปรี้ยว เค็ม เผ็ด หวาน เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภท ยำ แกง ต้น ลาบ ผัด ทอด ฯลฯ ที่เป็นรสชาติของอาหารที่โดดเด่นมากซึ่งเป็นที่ชื่นชอบก็คือ รสหวาน ที่ได้จากน้ำตาลในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง น้ำตาลทราย น้ำตาลปึกจากต้นตาล หรือต้นมะพร้าว และคนเราก็จะชอบรสหวานมาก ๆ กินอร่อย ชื่นใจ
สมาพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation : IDF) ได้ประมาณการว่าปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวาน 382 ล้านคน และคาดว่าในปี พ.ศ. 2578 จะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 592 ล้านคน หรือใน 10 คนจะพบผู้ป่วยเบาหวาน 1 คน สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2552 มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 3.5 ล้านคน และเสียชีวิตจากสาเหตุโรคเบาหวาน เฉลี่ยวันละ 27 คน และคาดว่าในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 4.7 ล้านคน เป็นตัวเลขที่น่าตกตลึง เพราะความน่ากลัวของโรคเบาหวาน นำไปสู่โรคร้ายแรง อื่น ๆหรือโรค NCD เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคแต่เกิดจากวิถีการดำรงชีวิตของเราเอง ตามมาได้อีกหลายโรค การรณรงค์ให้คนเราตระหนักเกี่ยวกับภัยจากโรคเบาหวานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้นน้ำตาลที่เรียกว่า ฟรุกโตส ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวายร้ายทำลายสุขภาพของคนเรา นายแพทย์ สมบูรณ์ รุ่งพรชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ (Vitallife Wellness Center) ในเครือโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ได้กล่าวในบทความเรื่อง สารให้ความหวาน มหันตภัยทำลายสุขภาพ ผ่านทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2559 หน้า 21 ว่า เราควรเลือกรับประทานน้ำตาลชนิดที่มีประโยชน์ เพราะน้ำตาลแต่ละชนิดนั้นให้ผลไม่เหมือนกัน เช่น
กลูโคส (Glucose) เป็นน้ำตาลที่ร่างกายสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติโดยสังเคราะห์ขึ้นที่ตับ จากการเปลี่ยนพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากอาหารเช่น ข้าว ได้กลูโคส และกลูโคสก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่ตับและจะถูกส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กลูโคสเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นแหล่งพลังงานหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง
ฟรุกโตส (Fructose) เป็นน้ำตาลอีกประเภทหนึ่งที่พบในผักและผลไม้ เป็นน้ำตาลที่เราเติมเข้าไปในเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้กล่อง เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากน้ำตาลกลูโคส เนื่องจาก ฟรุกโตส ไม่ได้สร้างพลังงานให้กับกล้ามเนื้อและสมองเลย แต่จะส่งตรงไปที่ตับและสะสมเป็นไขมันพอกอยู่ที่ตับ
นอกจากนี้ นายแพทย์ สมบูรณ์ รุ่งพรชัย ยังได้กล่าวว่า ฟรุกโตส ยังไประงับการหลั่งของสาร อินซูลิน อีกด้วย จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติ เช่น โรคความดันสูง น้ำตาลในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง ระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวานตามมาอีกด้วย
น้ำเชื่อมที่มีฟรุกโตสสูง (Hight Fructose Corn Syrup – HFCS) ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วง พ.ศ. 2490 มีราคาถูก โดยสกัดมาจากข้าวโพด ซึ่งต่อมาน้ำเชื่อมนี้ก็ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต่าง ๆ และอาหาร เนื่องจากมีราคาถูกกว่าน้ำตาลทรายจากอ้อย น้ำเชื่อมฟรุกโตสนี้ถือว่าเป็นมหันตภัยของความหวานอันดับแรก ๆ ที่เราควรหลีกเลี่ยง
เครื่องดื่มต่าง ๆ ที่จำหน่ายทั่วไปนั้น กำลังกัดกร่อนสุขภาพของคนไทย เพราะความหวานจากน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมอยู่ในเครื่องดื่ม เช่น ชาเขียวพร้อมดื่มในขวดหนึ่งมีน้ำตาลอยู่ถึง 12 ช้อนชา ในขณะที่องค์การอนามัยโลกให้ค่าบริโภคน้ำตาลของร่างกายที่เหมาะสมคือ 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัมต่อวันเท่านั้นเอง
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.scimath.org/