แนวคิดนี้รู้จักกันในชื่อ Dunning-Kruger Effect (ลองดูภาพประกอบ)
แกนตั้งเป็นระดับความมั่นใจ (confidence) จากน้อย (low) ไปหามาก (high)
ส่วนแกนนอนเป็นระดับความรู้ เริ่มต้นจากซ้ายมือสุดคือ ไม่รู้อะไรเลย (know-nothing) ขยับไปเป็น รู้และเข้าใจ(wisdom) จนถึงขวาสุดคือ เป็นผู้รู้จริง และมีความเชี่ยวชาญขั้นเทพ (guru)
กราฟเส้นสีน้ำเงินเริ่มต้นที่มุมล่างด้านซ้ายมือคือคนที่ไม่รู้อะไรเลย ความมั่นใจก็จะต่ำมาก ๆ อย่าว่าแต่จะให้พูด หรือแสดงความคิดเห็นเลย แค่ถามยังไม่กล้า เพราะไม่รู้จะถามอะไร แต่พอมีความรู้เพิ่มขึ้นนิด ๆ หน่อย ๆคนจำนวนไม่น้อยก็เข้าใจว่า…โอ้…อันที่จริง ไม่เห็นยากอย่างที่คิด จึงเกิดความมั่นใจ และเริ่มแสดงภูมิ
ความมั่นใจที่จะอวดรู้นี้ มักพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังอวดฉลาดอยู่ จนไปถึงจุดสูงสุดที่เรียกว่ายอดเขาแห่งความโง่ (peak ofmountain stupid) ณ จุดนี้คือจุดที่ผู้คนรอบด้านเริ่มเอือมระอากับพฤติกรรม โง่อวดฉลาด
คำถามที่น่าสนใจคือต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะรู้ตัว และจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองกำลังเดินทางไปสู่ยอดเขาแห่งความโง่อยู่
คำตอบคือไม่รู้ เพราะแต่ละคนใช้เวลาเร็วช้าต่างกันในการตระหนักว่ากำลังอวดฉลาดอยู่ แต่พอสังเกตได้บ้างจากคำกระแนะกระแหนของผู้คนรอบด้าน หรือถ้าเจอคนรู้จริงที่มีเจตนาดีมาช่วยสอนช่วยบอกให้โดยไม่หักหน้า ก็ถือว่าโชคดีไป
เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้ ประสบการณ์และวัยวุฒิที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ตระหนักว่าอันที่จริงสิ่งที่ตัวเอง รู้นั้นน้อยมาก เทียบได้เพียงหางอึ่ง จึงทำให้ความมั่นใจที่จะพูด หรือแสดงภูมิลดลงโดยปริยาย และค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดต่ำสุดที่เรียกว่า หุบเหวแห่งความสิ้นหวัง (valley of despair)
ในระหว่างที่ความมั่นใจกำลังลดลง ใจก็เปิดมากขึ้น จึงรับฟัง และเรียนรู้เพิ่มเติม เมื่อเวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่ง ความรู้ที่เพิ่มขึ้นก็ค่อย ๆ พลิกฟื้นความมั่นใจให้กลับคืนมาทีละเล็กละน้อยคราวนี้การแสดงความคิดเห็น ก็จะตรึกตรอง และใคร่ครวญอย่างรอบคอบก่อน เรียกว่าเก๋าขึ้น ชั่วโมงบินสูงขึ้น จึงสุขุมมากขึ้น
พัฒนาการแบบนี้จะดำเนินไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผู้รู้จริง (guru) ความมั่นใจกลับมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ต่างจากคราวก่อนคือ เป็นความมั่นใจที่นอบน้อมถ่อมตน ไม่ได้กร่างเหมือนเมื่อก่อน