แบคทีเรียเป็นเซลล์ที่มีชีวิตซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่มีการศึกษากันมา ช่วงขนาดของแบคทีเรียเริ่มตั้งแต่แบคทีเรียที่เล็กพอ ๆ กับไวรัสที่ใหญ่ที่สุด ไปจนถึงเซลล์แบคทีเรียที่ใหญ่ที่สุดที่มีขนาดใหญ่พอที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งหมายความว่าแบคทีเรียอาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ตั้งแต่ 0.1-600 ไมโครเมตร จะเห็นได้ว่าแบคทีเรียมีความหลากของขนาดอย่างยิ่ง แบคทีเรียที่มีขนาดเล็กที่สุดคือ Mycoplasma แบคทีเรียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีรายงานมาคือ Epulopiscium fishelsoni
ประเภทของเชื้อแบคทีเรีย
- หากแบ่งตามรูปร่าง หลักๆ จะแบ่งได้เป็น แบคทีเรียรูปร่างกลม (Cocci) และแบคทีเรียรูปร่างแท่ง (Bacilli)
- หากแบ่งตามส่วนประกอบบนผนังและเยื่อหุ้มเซลล์ จะแบ่งเป็น แบคทีเรียแกรมบวก (Gram positive) และ แบคทีเรียแกรมลบ (Gram negative) ซึ่งเมื่อย้อมด้วยสีแกรมจะมองเห็นสีแตกต่างกัน
- หากแบ่งตามการใช้ออกซิเจน จะแบ่งได้เป็น แบคทีเรียที่ต้องใช้ออกซิเจน (Aerobic bacteria) และแบคทีเรียที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน (Anaerobic bacteria) ในการเจริญเติบโต
แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีรูปร่างและลักษณะการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด เช่น บางชนิดมีหางเพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ บางชนิดมีติ่งลักษณะคล้ายขนเพื่อช่วยให้เกาะติดกับแบคทีเรียตัวอื่น ๆ หรือเพื่อให้ติดอยู่กับเซลล์ของคน บางชนิดอาศัยอยู่ในน้ำ ในดิน ในอาหาร ในบริเวณที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด หรืออาศัยอยู่ภายในร่างกายของคน เป็นต้น ทั้งนี้ แบคทีเรียบางชนิดก็อยู่ได้แบบอิสระโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แต่บางชนิดก็อาจมีชีวิตอยู่ในรูปแบบปรสิต
แบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
แบคทีเรียมีผลต่อร่างกายของเราในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์ด้วย ซึ่งแบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารอาจประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะจุลชีพเหล่านี้จะช่วยย่อยสลายอาหารและกระตุ้นให้มีสุขภาพดีได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าแบคทีเรียบางชนิดที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารอาจมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคอ้วนหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญของร่างกายได้ในอนาคต เพราะนักวิจัยพบว่า ในหนูทดลองที่อ้วนและหนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 มีแบคทีเรียชนิด A. Muciniphila น้อยกว่าปกติ ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่ในร่างกายของคนและมีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร แต่การนำผลการทดลองมาปรับใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันอาการเจ็บป่วยในคนนั้น เป็นเรื่องที่ควรศึกษาเพิ่มเติมต่อไปจนกว่าจะทราบผลลัพธ์ที่ชัดเจน
นอกจากนี้ มีแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารที่มีประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง คือ แลคโตบาซิลลัสซึ่งเป็นแบคทีเรียประเภทเดียวกันกับที่พบในอาหารหมักอย่างโยเกิร์ตที่หลายคนชอบรับประทาน โดยแลคโตบาซิลลัสบางสายพันธ์ุมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย และบางสายพันธ์ุอาจมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนมได้อีกด้วย
แบคทีเรียชนิดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ถึงแม้ว่าแบคทีเรียบางชนิดอาจมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน แต่ก็มีอีกหลายชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น
อีโคไล คือ แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคนและสัตว์ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายต่อคน และยังสำคัญต่อลำไส้ด้วย แต่บางสายพันธุ์ก็ทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายได้ เช่น ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและโรคปอดบวม เป็นต้น โดยเชื้ออีโคไลสามารถแพร่สู่คนผ่านทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน รวมทั้งการสัมผัสกับคนและสัตว์ก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้ เชื้ออีโคไลบางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายร้ายแรงอย่างไตวายได้อีกด้วย
สเตรปโทคอกคัส คือ แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากมาย แบ่งออกเป็นกลุ่มเอและกลุ่มบี โดยกลุ่มเอหรือที่เรียกว่า GAS มักส่งผลต่อผิวหนังและคอ โดยอาจทำให้เกิดความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย เช่น โรคแผลพุพอง เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ คออักเสบ ไข้อีดำอีแดง เป็นต้น แต่บางคนอาจมีเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใด ๆ เลยก็ได้
ส่วนเชื้อสเตรปโทคอกคัสในกลุ่มบีหรือที่เรียกว่า GBS เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้กับทุกช่วงอายุ หากติดเชื้อในทารกก็อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยมีอาการที่พบได้บ่อย คือ เป็นโรคติดเชื้อ ปอดบวม และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่เมื่อติดเชื้อในผู้ใหญ่มักมีอาการอย่างปอดบวม เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือติดเชื้อที่กระดูกและข้อ
ป้องกันการเจ็บป่วยจากเชื้อแบคทีเรียอันตรายได้อย่างไร ?
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายนั้นช่วยคลายเครียด เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อโรคภัยต่าง ๆ ลงได้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนหรือหลังทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ล้างมือก่อนและหลังดูแลผู้ป่วย ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนทำแผล หลังจากเข้าห้องน้ำ หลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารก หลังจากไอหรือจาม หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือขยะ เป็นต้น
- ไม่ใช้ภาชนะของผู้อื่นและไม่ใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่นในการรับประทานอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- รับประทานอาหารที่สะอาดและปลอดภัย โดยใช้วิธีต่าง ๆ เช่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆล้างวัตถุดิบด้วยการเปิดน้ำให้ไหลผ่านก่อนปรุงหรือก่อนรับประทาน ไม่ใช้เขียงร่วมกันระหว่างของดิบและของที่ปรุงสุกแล้ว เป็นต้น
- หากไม่มีผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษชำระ ให้ยกข้อศอกหรือต้นแขนขึ้นมาปิดปากเมื่อไอหรือจาม เพราะการไอหรือจามอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้
- ไม่ควรบีบ เกา แกะ บริเวณที่เป็นแผลหรือสิว เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้
- หากเกิดแผล ควรทำความสะอาดและใช้ผ้าปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากแผลมีความรุนแรง เป็นแผลที่โดนสัตว์หรือคนกัด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
- มีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีที่ปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ไปตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีรวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ทั้งตนเองและคู่นอน
- พาสัตว์เลี้ยงและตนเองไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่โรงพยาบาล
- ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนเพิ่มเติมตามเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ
ขอบคุณข้อมูล https://www.pobpad.com/