หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักจุลชีววิทยาและนักเคมีผู้วางรากฐานการแพทย์สมัยใหม่ เป็นผู้ค้นพบว่าการเน่าเสียของอาหารเกิดจากจุลินทรีย์ และค้นพบวิธีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ด้วยการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ซึ่งช่วยให้สามารถเก็บนม เครื่องดื่ม และอาหารไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย การค้นพบนี้ทำให้สาขาวิชาจุลชีววิทยาโดดเด่นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ปาสเตอร์ยังเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีการติดเชื้อจากจุลินทรีย์และค้นพบวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า อหิวาตกโรค วัณโรค และโรคคอตีบ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก ช่วงปั้นปลายชีวิตเขาได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ที่มุ่งทำงานวิจัยต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆจนกลายเป็นสถาบันวิจัยที่สำคัญของโลก ปาสเตอร์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่อุทิศตนให้กับงานค้นคว้าวิจัยด้วยความพยายามและมุ่งมั่น ผลงานของเขาสร้างประโยชน์ให้กับโลกอย่างมหาศาล ปาสเตอร์เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโลกอย่างสูง
จากนักเคมีกลายเป็นนักชีววิทยา
ปาสเตอร์ประสบความสำเร็จกับการทำงานในฐานะนักเคมีด้วยดี เขาทำวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติทางแสงและการตกผลึกของกรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) จนทราบสาเหตุของปัญหาที่ทำให้การเลี้ยวเบนของแสงเมื่อผ่านผลึกของกรดทาร์ทาริกที่ได้จากสิ่งมีชีวิตกับที่ได้จากการสังเคราะห์แตกต่างกัน ด้านตำแหน่งทางวิชาการก็ก้าวหน้าด้วยดี ปี 1852 ได้เป็นหัวหน้าแผนกเคมีของมหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก และในปี 1854 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยลีลล์ และที่นี่เองที่เขาเริ่มเบนเข็มไปค้นคว้าทางชีววิทยาด้วยการศึกษาเรื่องการหมัก (Fermentation) ปี 1857 ย้ายไปอยู่ที่ปารีสเป็นผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ของสถาบัน École Normale Supérieure ที่เขาเป็นศิษย์เก่านานเกือบ 10 ปี
การศึกษาในเรื่องการหมักทำให้ปาสเตอร์พบว่าชีวิตใหม่ต้องเกิดจากสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่เดิมเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับหลักคำสอนและความเชื่อพื้นฐานในขณะนั้นที่ว่าสิ่งมีชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้เองจากสิ่งไม่มีชีวิต (Spontaneous Generation) เช่น กบเกิดขึ้นมาเองจากโคลน แมลงเกิดขึ้นมาจากเศษอาหารที่เหลือทิ้งไว้ ฯลฯ เป็นความเชื่อที่มีมายาวนานนับพันปี พอปาสเตอร์เสนอแนวคิดที่ตรงกันข้ามจึงเกิดการคัดค้านจากนักปราชญ์รุ่นเก่าอย่างหนักจนกลายเป็นสงครามปากกา สถาบันวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสได้เสนอเงินรางวัล 2,500 ฟรังก์ให้กับผู้ที่สามารถทดลองพิสูจน์หักล้างกับหลักคำสอนได้ ปาสเตอร์ทำการทดลองใส่น้ำต้มในขวด ใช้อากาศร้อนฆ่าเชื้อภายในขวดแล้วปิดฝาสนิททิ้งไว้ เทียบกับขวดอื่นที่ใส่น้ำต้มแต่เปิดฝาทิ้งไว้ พบว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตในขวดปิดฝา แต่ในขวดเปิดฝามี และยังพบว่ามีสิ่งมีชีวิตน้อยลงในขวดเปิดฝาที่วางไว้ที่ระดับสูงเพราะที่ระดับสูงมีฝุ่นน้อยกว่า คณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยศาสตราจารย์ชั้นอาวุโสลงมติว่าแนวคิดของปาสเตอร์ถูกต้อง เขาจึงได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในฐานะนักชีววิทยา
ก่อตั้งสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก
หลังจากการพัฒนาวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าปาสเตอร์เสนอให้จัดตั้งสถาบันเพื่อการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อร้ายแรง โดยมีการระดมทุนจากผู้บริจาคหลายประเทศ สถาบันปาสเตอร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1888 ปาสเตอร์เป็นผู้อำนวยการสถาบันคนแรกจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1895 ด้วยวัย 73 ปี ปัจจุบันสถาบันปาสเตอร์เป็นสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก มีการขยายสาขาออกไปเป็น 32 แห่งใน 29 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยใช้ชื่อว่าสถานเสาวภา
เขาคือผู้สร้างคุณูปการแก่ชาวโลก
ผลงานจากความมุ่งมั่นและพยายามของปาสเตอร์สร้างประโยชน์ให้กับโลกอย่างมหาศาล ช่วยชีวิตผู้คนจากโรคร้ายมากมาย รวมทั้งได้วางรากฐานสำคัญต่อการแพทย์สมัยใหม่ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ในวาระฉลองอายุครบ 70 ปีของปาสเตอร์รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศให้วันเกิดของเขาเป็นวันหยุดทั่วประเทศ นับว่าเป็นเกียรติสูงสุดที่ไม่มีใครได้รับมาก่อนแม้กระทั่งประธานาธิบดี ผู้คนต่างยกย่องชื่นชมในความสามารถและผลงานของเขาในฐานะนักชีววิทยาคนสำคัญของโลก มีสถานที่ ถนน โรงเรียน มหาวิทยาลัยในหลายประเทศตั้งชื่อตามชื่อของเขาเพื่อเชิดชูเกียรติ ปาสเตอร์เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโลกอย่างสูง
ขอบคุณข้อมูล https://www.takieng.com/stories/9328